การเขียนรายงานการวิจัยเชิงคุณภาพ

20 ส.ค. 58 — Day 5 วันสุดท้ายของการเข้าร่วมฟังการบรรยาย Twilight Program (18:00-20:00 น.) ในชุด “การวิจัยเชิงคุณภาพ” จัดโดย วช. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ Central World

อ่านบันทึกการถอดบทเรียนการวิจัยเชิงคุณภาพ ครั้งก่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

สำหรับวันนี้เป็นการบรรยายในหัวข้อ “การเขียนรายงานการวิจัยเชิงคุณภาพ” โดย ผศ.ดร. สมสุดา ผู้พัฒน์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความหมายสำคัญ ของการเขียนรายงานวิจัยเชิงคุณภาพ

  • เขียนความจริง เพื่อตอบคำถามหรือปัญหาซึ่งยังไม่มีผู้ใดรู้มาก่อน
  • เปิดเผยแก่สาธารณชน
  • ความจริงนั้น ได้มาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (พิสูจน์ได้)
  • นำเสนอในรูปแบบการพรรณนา “ข้อเท็จจริง” เชื่อมโยงไปสู่ “ข้อสรุปความจริง”

ผู้วิจัยมาหาความจริง เอาความจริงมาเปิดเผย ต้องมีใจเป็นกลาง  จิตต้องไม่คิดอกุศล อย่ามโน

ความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ ไม่ต้องทำวิจัย แต่ความจริงบางอย่างต้องพิสูจน์ จึงต้องทำวิจัย ความจริงในระดับอริยสัจจ์ รู้และเห็นได้ด้วยญานทัศนะ ธรรมจักขุของผู้ปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 แต่สามัญสัจจ์ รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 หลักฐานซึ่งหน้า หลักฐานร่องรอย พยานบุคคล และพยานวัตถุ

หลักการเขียนรายงานวิจัย

  • ต้องรู้ว่า ผู้อ่านเป็นใคร ใครคือ target reader
  • เขียนถูกต้อง ตรงตามความจริง (ไม่ใช่ความคิดเห็น อย่ามโน)
  • เขียนถูกหลักไวยากรณ์
  • เลือกใช้คำและภาษาที่ตรงความหมายที่จะสื่อสารกับผู้อ่าน (be precise)
  • ไม่มีอคติในการเขียน (อย่าทึกทักเอาเอง)
  • วัตถุประสงค์ของการเขียนต้องชัดเจน คือ
    • เพื่อให้ผู้อ่านรับรู้ความจริง
    • เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์หรือพฤติกรรมถูกต้อง ตรงตามความจริง
    • เพื่ออธิบายทฤษฎีให้ลุ่มลึก
    • เพื่อปรับปรุงและพัฒนาวิธีปฏิบัติ

การวางแผนเตรียมเขียนรายงานวิจัย

ก่อนวิจัย (ออกแบบวิจัย)

  • วิเคราะห์ชื่อเรื่องวิจัย เพื่อหาคำสำคัญ และความสัมพันธ์ของคำสำคัญเหล่านั้น
  • กำหนดคำถามวิจัย จากคำสำคัญเหล่านั้นอย่างชาญฉลาด
  • ทำไมต้องหาคำตอบจากคำถามนั้น
  • มีหลักฐานในการค้นหาคำตอบมาก่อนหรือไม่
  • ต้องระบุได้อย่างชัดเจนว่า ใครหรือองค์กรได้ ใช้ประโยชน์งานวิจัย
  • อะไรคือวัตถุประสงค์ของการวิจัย

ขณะวิจัย (วิธีวิจัย)

  • ตัวแปรในงานวิจัยชื่ออะไร ตัวแปรต้องสอดคล้องกับคำสำคัญ คำถามวิจัย และวัตถุประสงค์การวิจัย
  • รูปแบบวิจัย ต้องเที่ยงตรงต่อการได้คำตอบของคำถามวิจัย
  • การเก็บข้อมูล ต้องถูกคนที่รู้ความจริง รู้ว่าความจริงอยู่ที่ใครกันแน่ คนนั้นต้องเต็มใจให้ความจริง และต้องเก็บข้อมูลถูกเวลา ถูกสถานที่ จึงจะได้ความจริง
  • การวิเคราะห์ข้อมูล ต้องมีข้อเท็จจริงครบสมบูรณ์ สามารถเชื่อมโยงข้อเท็จจริงได้ถูกต้อง และสรุปตีความได้ตรงประเด็นคำถามวิจัย

หลังวิจัย (เขียนรายงานวิจัย)

  • ต้องเขียนรายงานได้ถูกต้องตามแบบฟอร์มมาตรฐานสากล
  • ถูกต้องตามหลักการเขียน
  • เขียนให้เชื่อมโยงตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย
  • ห้ามขโมย หรือฉ้อฉลทางวิชาการ (plagiarism)
  • การตรวจเอกสารแสดงถึงความรอบรู้ ลุ่มลึก ตรงประเด็น และความเข้าใจของนักวิจัยที่มีต่อคำสำคัญและตัวแปร
  • ระบุรายละเอียดวิธีการวิจัยอย่างละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านมั่นใจว่าวิธีวิจัยมีความเที่ยงตรง
  • ผลการวิจัยได้องค์ความรู้ใหม่ ตรงกับคำถามวิจัยและวัตถุประสงค์การวิจัย

แนวคิดสำคัญในการเขียนรายงานวิจัย

บทที่ 1 ทำไมจึงทำวิจัย

  • อะไรคือตัวแปร จะหาคำตอบเรื่องอะไร
  • ทำไมต้องหาคำตอบนั้น
  • อะไรคือหลักฐานสนับสนุน
  • มีองค์ความรู้ใหม่อะไรที่เกิดขึ้น
  • ใครคือผู้ใช้ประโยชน์

บทที่ 2 ความรอบรู้ตัวแปร

  • ต้องรอบรู้คำนิยาม (ตามพจนานุกรม ตามตำรา ตามทฤษฎี)
  • ต้องทราบความเป็นมา บริบท ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 3 วิธีการหาคำตอบ

  • ชื่อเรื่อง รายละเอียด และเหตุผลที่เลือก
  • จะใช้วิธีการเก็บข้อมูลอย่างไร ใคร-ทำไม รู้ได้อย่างไร อยู่ที่ไหน เข้าถึงได้อย่างไร
  • จะใช้เครื่องมือหรือวิธีการอะไร จึงจะได้ความจริง
  • การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการอะไร

บทที่ 4 ผลการหาคำตอบ

  • ได้คำตอบตรงตามคำถามและวัตถุประสงค์การวิจัยหรือไม่
  • คำตอบนั้น มีสาระสำคัญและรายละเอียดอย่างไร
  • คำตอบนั้นถูกต้องจริงหรือไม่
  • คำตอบนั้นได้มาจากกระบวนการวิจัยหรือไม่ (ให้เหตุผล)

บทที่ 5 สรุปผล

  • ได้องค์ความรู้ใหม่อะไร
  • ใช้ประโยชน์อย่างไร กับใครหรือองค์กรใด

ใส่ความเห็น