เมื่อวันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2563 พระราชวังพญาไท กลับมาเปิดให้บริการเข้าชมอีกครั้ง หลังจากปิดไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้มีโอกาสไปเข้าชม โดยทางชมรมคนรักวัง หรือ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้จัดมัคคุเทศก์อาสาสมัครมาทำหน้าที่นำชม เสียค่าบัตรเข้าชมเพียง 40 บาท ใช้เวลาเดินชมเกือบ 2 ชั่วโมง หากขับรถยนต์ส่วนตัวมา สามารถจอดได้ที่อาคารจอดรถของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งให้ประชาชนทั่วไปจอดได้ที่ชั้น 8-9 สะดวกมากค่ะ เปิดให้ชม 2 รอบ เวลา 9:30 และ 13:30 น. ในวันเสาร์ และอาทิตย์ วันอังคารและพฤหัสบดี เวลา 10:00 และ 13:30 น.
ขากลับยังได้รับแจก DVD สารคดี ตามรอยเสด็จประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ของธนาคารออมสิน ที่ถ่ายทำในปี 2557 ความยาว 2 ชั่วโมง ให้เสียงบรรยายโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา อีกด้วย
วังพญาไท เป็นพระราชวังเก่าแก่ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เดิมเป็น โรงนาหลวงพระยาไทย ทำนาโดยใช้น้ำจากคลองพระยาไทย ที่ขุดแยกออกมาจากคลองสามเสน เคยมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่นี่ ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างหมู่พระที่นั่งเพิ่มเติมโดยใช้สถาปัตยกรรมตะวันตก และเสด็จมาประทับที่นี่ พระที่นั่งทั้ง 5 องค์ มีชื่อที่คล้องจองกัน คือ ไวกูณฐเทพยสถาน – พิมานจักรี – ศรีสุทธนิวาส – เทวราชสภารมย์ – และ อุดมวนาภรณ์
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ในช่วงหนึ่ง พระราชวังพญาไท ได้กลายเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “Phya Thai Palace Hotel” เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยี่ยน และติดต่อธุรกิจในประเทศสยาม และหารายได้ในการบำรุงรักษาพระราชวังด้วย ป็นสถานที่จัดประชุมก่อตั้งสโมสรโรตารี่กรุงเทพฯ และสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์ กระทรวงกลาโหม และกลายมาเป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก ในที่สุด
ทั่วบริเวณพระราชวัง จะเห็น ตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ รร.6 ตามที่ต่าง ๆ หลายรูปแบบ ย่อมาจาก “สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ ๖ หรือ “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖”
ถัดจากพระที่นั่งพิมานจักรี จะยาวต่อไปทางทิศตะวันออก เป็นพระที่นั่งไวยกูณฐเทพยสถาน ซึ่งพระที่นั่งทั้งสององค์นี้เชื่อมต่อกันคล้าย ๆ กับเป็นองค์เดียวกัน
ส่วนทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี จะเชื่อมต่อไปยังพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส ซึ่งเป็นสถานที่รับรองเจ้านายฝ่ายใน เดิมพระที่นั่งองค์นี้ชื่อว่าพระที่นั่งลักษมีพิลาส ตั้งตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพในปีมะโรง ดังนั้น ในพระราชวังจึงเห็นมี ภาพนูนที่ผนังบ่อน้ำ เป็นรูปพญามังกรถือวชิราวุธ หรือวัชระ อาวุธของพระอินทร์ ซึ่งเป็ฯพระบรมราชสัญลักษณ์ของพระองค์ และมีภาพเขียน พญามังกรห้าเล็บ เทคนิคสีปูนแห้งบนเพดานในห้องพระบรรทม

พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช เป็นพระพุทธรูปประจำวังพญาไท ปางนากปรก ประจำวันเสาร์ (วันพระราชสมภพ)
ท้าวหิรัญพนาสูร เป็นเทพผู้ปกป้กรักษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงเรียกท้าวหิรัญพนาสูรว่า “ตาหิรัญฮู”) เป็นเทพารักษ์ประจำพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงนับถือมากและจัดกระยาหารสังเวยเทวรูปทุกวัน
ในฐานะที่ทำงานอยู่ในบริเวณโดยรอบแขวงทุ่งพญาไท บนถนนพระรามที่ 6 และใกล้โรงพยาบาลรามาธิบดี ชื่อเหล่านี้ มีที่มาที่ไป การได้ทราบเรื่องราวประวัติศาสตร์ ของอดีตโรงนาหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระราชวังที่ประทับในสมัยรัชกาลที่ 6 การศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่ จะทำให้เราเข้าใจแผ่นดินเมื่อ 111 ปีที่แล้วอย่างลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อแผ่นดินมากยิ่งขึ้นค่ะ