ถอดบทเรียนจากการไปอบรมเรื่อง Writing and Publishing Research (ตอนที่ 3)

ตอนที่ 3 นี้ เป็นตอนจบของเรื่องเล่าจากการไปอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “The Writing and Publishing in Library and Information Science at International level Workshop” หัวข้อที่กล่าวไปแล้ว ใน ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ได้แก่

  • Understanding Scholarly Publishing
  • Characterizing Your Research
  • Identifying Target Journals
  • Analyzing Articles in Target Journals
  • Developing an Outline of the Article
  • Developing a Plan of Action for Writing Your Article
  • Writing the Article

เรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในตอนสุดท้ายนี้ คือ Resources to Help You Get Published : บนอินเทอร์เน็ตมีแหล่งข้อมูลดีๆ จำนวนมากที่สามารถแนะนำวิธีการเขียนบทความและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาด้วยตัวเองได้ แหล่งข้อมูลที่น่าสนใจ ได้แก่

“Your research is NOT complete until it has been published” — Springer & Edanz Author Academy

ถอดบทเรียนจากการไปอบรมเรื่อง Writing and Publishing Research (ตอนที่ 2)

เรื่องเล่าจากการไปอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “The Writing and Publishing in Library and Information Science at International level Workshop” ที่หลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ. จัดขึ้น โดยมีวิทยากรผู้ฝึกอบรมคือ Assoc. Prof. Diljit Singh จาก University of Malaya เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 18-19 พฤษภาคม 2556 (ต่อจากความเดิม ตอนที่แล้ว)

หลังจากที่ผ่านขั้นตอน Characterizing Your Research หรือทำความเข้าใจกับงานวิจัยของเราแล้ว ว่าเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์กับใคร ใครสนใจเรื่องแบบนี้ คำถามที่สำคัญมากและมักถูกถามบ่อย คือ So what? (แล้วไง) What is the significance? (ทำไปทำไม) มี keywords ที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง นำ keywords ไปค้นหาบทความอื่นๆ ที่มีความใกล้เคียงกับงานวิจัยของเรา เพื่อหาว่าบทความเหล่านั้นตีพิมพ์ในวารสารใดกันบ้าง จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอน Identifying Target Journals ศึกษารายละเอียดของวารสาร เลือกวารสารที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมาสัก 2-3 ชื่อ ที่น่าจะรับบทความของเราลงตีพิมพ์

  • Analyzing Articles in Target Journals : ขั้นตอนต่อไป คือเลือกบทความที่เกี่ยวข้องจาก target journals เหล่านั้น มาสัก 3-5 บทความและทำการวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด เช่น บทความมีความยาวเท่าไหร่ (สักประมาณกี่คำ ?) มีการแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่-หัวข้อย่อยอย่างไรบ้าง แต่ละตอนมีความยาวเท่าไหร่ ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะอ่านบทความนี้ (นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานประจำ หรือนักวิชาการ) สไตล์การเขียน abstract และเนื้อหาแต่ละตอนเป็นอย่างไร อะไรคือแนวความคิดหลักของบทความ มีจำนวนรายการอ้างอิงมากแค่ไหน ใช้สไตล์การอ้างอิงแบบใด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเป็นแนวทางในการเขียนบทความของเราได้
  • Developing an Outline of the Article: จากความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์บทความของคนอื่น ให้ลองทำโครงร่างบทความของเราบ้าง (รายละเอียดของชื่อหัวข้ออาจแตกต่างกันไปบ้าง ตามสไตล์ของแต่ละวารสาร)
    • Level 1 : แบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ (Main Headings) สัก 5 หัวข้อก่อน คือ 1. Introduction 2. Review of Literature 3. Methodology 4. Outcomes 5. Conclusions and Recommendations
    • Level 2 : แต่ละหัวข้อใหญ่ แบ่งย่อยเป็น sub-headings เช่น 1. Introduction แบ่งเป็น 1.1 Overview of the research area 1.2 Problem to be investigated 1.3 Objectives
    • Level 3 : แบ่งย่อยลงไปอีก เช่น 1. Introduction
      • 1.1 Overview of the research area แบ่งเป็น 1.1.1 Brief history 1.1.2 Current status
      • 1.2 Problem to be investigated แบ่งเป็น 1.2.1 As reported in literature 1.2.2 Seriousness of problem, statistics
      • 1.3 Objectives แบ่งเป็น 1.3.1 List of objectives 1.3.2 Brief description of how objectives achieved
    • Developing a Plan of Action for Writing Your Article : เนื่องจากการเขียนบทความ ไม่สามารถแล้วเสร็จได้ภายในเวลาแค่วันสองวัน จะทำสำเร็จได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีการวางแผน ถ้าทำโดยไม่มีการวางแผน โอกาสล้มเหลวมีสูงมาก แผนปฏิบัติการจะต้องครอบคลุม 5W + 1H คือ What, Why, Where, When, Who และ How อะไรคือเป้าหมาย ทำไมจึงสำคัญ จะทำงานที่ไหน (สถานที่ที่เหมาะสมในการทำงานก็เป็นเรื่องสำคัญ แล้วแต่อุปนิสัยของแต่ละคน) จะทำเสร็จเมื่อไหร่ มีใครที่เกี่ยวข้องหรือให้ความช่วยเหลือ และสุดท้ายแล้วจะทำอย่างไร มีขั้นตอนปฏิบัติการอย่างไร — ลองเขียนแผนการปฏิบัติงาน 10 หัวข้อ ดังนี้
      1. ตั้งเป้าหมาย : กำหนดระยะเวลาที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น ต้องเสร็จภายในเวลา 3-6 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ และตั้งปณิธาน A Promise to Myself ไว้ว่าจะต้องทำให้สำเร็จภายในวันสิ้นปี 31 ธันวาคม 2556 เป็นต้น
      2. เหตุผลที่ต้องการตีพิมพ์คืออะไร : เช่น ต้องการมีประสบการณ์ในการตีพิมพ์วารสารระดับนานาชาติ ต้องใช้ผลงานตีพิมพ์ในการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นต้น
      3. ชนิดของบทความที่ต้องการตีพิมพ์ : เช่น บทความวิจัย หรือบทความปริทัศน์
      4. ชื่อเรื่อง : ที่คาดว่าจะเป็น
      5. ชื่อผู้แต่งและที่อยู่ของผู้แต่ง : มีใครบ้าง เช่นนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา จะใส่ชื่อที่อยู่อย่างไร เรียงลำดับชื่ออย่างไร แล้วแต่นโยบายของมหาวิทยาลัย
      6. วารสารที่ต้องการตีพิมพ์ : เลือกมาชื่อเดียวก่อน พร้อมเหตุผลว่าทำไมจึงเลือก
      7. บุคคลที่คาดว่าจะไปขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ : เช่น ช่วยทางด้านเทคนิคการทำวิจัย ช่วยตรวจแก้ไขบทความและภาษา ช่วยเรื่องสถิติ ช่วยเรื่องเงินทุนสนับสนุนการวิจัย หรือเป็นบุคคลที่เราสามารถไปขอคำปรึกษาในการตีพิมพ์ในฐานะเป็นผู้มีประสบการณ์ ตีพิมพ์มาแล้ว หรือมีชื่ออยู่ในกองบรรณาธิการ เป็นต้น
      8. กำหนดการ : วันที่คาดว่าจะทำฉบับร่างแล้วเสร็จ วันที่จะส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจ วันที่จะส่งให้คนอื่นช่วยตรวจเรื่องภาษา และวันที่จะ submit บทความส่งให้บรรณาธิการวารสาร
      9. ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น : และแนวทางแก้ไข
      10. ทำเสร็จแล้วจะได้รางวัลอะไร : เนื่องจากการตีพิมพ์เป็นเรื่องยาก และต้องใช้ความพยายาม ดังนั้น ควรมีการให้รางวัลแก่ตัวเองด้วย เช่น จะได้ไปเที่ยว (หรือห้ามไปเที่ยวจนกว่าจะทำเสร็จ) เป็นต้น
    • Writing the Article : เคล็ดลับคือ ต้องจัดระเบียบตัวเอง พยายามเขียนเป็นประจำทุกวัน บรรทัดเดียวก็ยังดี เขียนแค่ 10-15 นาทีก็ยังดี (ทำให้เหมือนกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ แปรงฟัน) พยายามอ่านบทความของคนอื่นเรื่อยๆ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความของเรามีความเหมาะสมและมีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องนั้นๆ ต้องเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนกับปัญหาหรือโจทย์วิจัย ต้องแน่ใจว่าบทความมีประโยชน์ต่อผู้อ่านอย่างแท้จริง ควรขอให้คนอื่นช่วยอ่านบทความ ว่าเขาอ่านแล้วเข้าใจหรือไม่ หาคนช่วยแก้ไขภาษาไวยกรณ์ตัวสะกด เมื่อเขียนเสร็จแล้วควร submit ไปยังวารสารทีละชื่อ อย่าส่งไปให้วารสารหลายชื่อพร้อมกัน เพราะจะผิดจรรยาบรรณการวิจัย

    [ อ่านต่อ ตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ]

ถอดบทเรียนจากการไปอบรมเรื่อง Writing and Publishing Research (ตอนที่ 1)

วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 18-19 พฤษภาคม 2556 ได้ไปอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “The Writing and Publishing in Library and Information Science at International level Workshop” ที่หลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ มสธ. จัดขึ้น โดยมีวิทยากรผู้ฝึกอบรมคือ Assoc. Prof. Diljit Singh จาก University of Malaya — จบการอบรมแล้วได้รับประกาศนียบัตรมา 1 ใบ และได้รับเทคนิคดีๆ มามากมาย เลยเอามาถ่ายทอดต่อค่ะ

certificate

  • ทำไมต้องอบรม : เนื่องจากมีหลายแรงผลักดันที่เราจะต้องเขียนและตีพิมพ์ผลงานวิจัย เช่น นโยบายของมหาวิทยาลัย ความจำเป็นของนักศึกษาปริญญาเอกที่จะต้องตีพิมพ์ก่อนจบ (นักศึกษาปริญญาเอกของ U of Malaya จะจบได้ต้องตีพิมพ์ 2 papers) เป็นประโยชน์ต่อตนเองในการเลื่อนขั้น ได้รางวัล หรือเป็นประวัติที่ดีเวลาไปสมัครงาน ฯลฯ ถ้าลองเข้าไปสืบค้นและวิเคราะห์ผลงานวิจัยประเทศไทย โดยใช้ Country Search จากเว็บไซต์ http://www.scimagojr.com จะพบว่างานวิจัยทางสังคมศาสตร์ของไทยมีน้อย ยิ่งสาขา Library and Information Science (LIS) ยิ่งน้อยอย่างน่าใจหาย 16 ปีผ่านไป (1996-2011) ก็ยังตีพิมพ์ไม่ถึง 10 เรื่องต่อปี เทียบไม่ได้เลยกับมาเลเซียและสิงคโปร์ซึ่งโตวันโตคืน — วิทยากรบอกว่า การตีพิมพ์นั้นไม่ยาก ถ้ามีปัจจัย 3 ประการคือ knowledge, skills และ attitude ที่ดี ถ้าเคยอ่านหนังสือของ Stephen R. Covey เรื่อง 7 Habits of Highly Effective People จะรู้ว่าเราต้อง “Begin with the End in Mind” ตั้งเป้าหมายตอนจบไว้เลย ว่าอยากได้ อยากเป็นอะไร — ให้ลองตอบคำถามต่อไปนี้ดู 1. My goals in life are … 2. Ten years from now, I shall …. 3. Research and publishing is related to my goals in that … 4. Publishing is important to me because …
  • เป้าหมายของการอบรมครั้งนี้ : เมื่อจบการอบรมแล้ว หวังว่าผู้เข้ารับการอบรมจะสามารถเข้าใจขั้นตอนและกระบวนการของตีพิมพ์วารสารวิชาการ รู้จักวิธีการหารายชื่อวารสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเราได้ วิทยากรบอกว่า งานนี้เป็น workshop ไม่ใช่ seminar ดังนั้น ทุกคนต้อง “work” .. ในการฝึกอบรมครั้งนี้จะให้คัดเลือกวารสารที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย (target journals) มาสัก 2-3 ชื่อ ศึกษาเงื่อนไขของการส่งบทความไปตีพิมพ์ในวารสารเหล่านั้น จากนั้นลองเขียนโครงร่างของบทความขึ้นมา เพื่อเตรียมที่จะไปตีพิมพ์ในวารสารที่คัดเลือกไว้แล้ว วางแผนปฎิบัติการว่าจะเริ่มเขียนบทความฉบับร่างเมื่อไหร่ จะเขียนเสร็จเมื่อไหร่ และจะส่งไปตีพิมพ์เมื่อไหร่ ต้องมุ่งมั่นจริงจังที่จะบรรลุเป้าหมาย และให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามตีพิมพ์ให้ได้อย่างน้อย 1 paper ภายในปลายปี 2013 นี้ให้จงได้ !!
  • Understanding Scholarly Publishing : ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ เป็นผลมาจากองค์ความรู้ใหม่ องค์ความรู้ใหม่เป็นผลมาจากการวิจัย การวิจัยจะมีค่าต่อเมื่อมันได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ การติดต่อสื่อสารทางวิชาการ (scholarly communication) มีหลายรูปแบบเช่น การพบปะพูดคุยระหว่างนักวิจัยภายในเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการ การเผยแพร่ผลงานในการประชุมวิชาการ และการตีพิมพ์ในวารสาร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการติดต่อสื่อสารและบันทึกผลการค้นพบใหม่ที่เป็นทางการที่สุด ขั้นตอนของการตีพิมพ์บทความไปลงวารสารคือ ส่งต้นฉบับไปให้บรรณาธิการ บรรณาธิการอาจปฏิเสธ (reject) หรือส่งต่อให้ reviewer อ่านและแสดงความคิดเห็น จากนั้นส่งกลับมาให้ author ทำการแก้ไขบทความ (revise) ตามที่ reviewer เสนอแนะหรืออาจปฏิเสธ (reject) บทความก็ได้ เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วส่งกลับไปยังบรรณาธิการ จนกว่าจะได้รับการยอมรับ (accept) ให้ตีพิมพ์ได้ โดยทั่วไปมักเป็น double-bind reviewing process คือ ปิดบังชื่อทั้ง author และ reviewer เพื่อความโปร่งใส
  • Characterizing Your Research : จะดีพิมพ์ได้ ต้องรู้จักงานวิจัยของตนเองก่อนเป็นอย่างดี ว่าเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับอะไร เป็นงานวิจัยชนิดไหน ทำไมมันจึงสำคัญ ทำไปทำไม มีประโยชน์กับใคร ใครสนใจเรื่องแบบนี้ จากนั้นจึงจะตัดสินได้ว่าจะไปตีพิมพ์ที่ไหนดี มีวารสารใดบ้างที่สนใจเรื่องของเรา ลองตอบคำถามต่อไปนี้ 1. My research is about … 2. The problem I’m trying to address is … 3. My objectives are … 4. My research is important because …
  • Identifying Target Journals : วารสารมักมีผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เราต้องกำหนด keywords ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของเรามาสัก 4-5 คำ จากนั้นลอง search ดูใน Google Scholar, Microsoft Academic Search หรือฐานข้อมูลต่างๆ เช่น Web of Science, Scopus เพื่อหาว่ามีวารสารใดบ้างที่ตีพิมพ์บทความคล้ายๆ งานวิจัยของเรา จากนั้น นำรายชื่อวารสารเหล่านั้นมากศึกษารายละเอียดเพื่อคัดเลือกวารสารที่เป็น target journals โดยพิจารณาคุณลักษณะต่างๆของวารสาร เข้าไปดูข้อมูลจากเว็บไซต์ของวารสาร อ่านคำอธิบาย scope ของวารสาร และอ่าน Instruction to Authors ดูว่าวารสารนี้มี peer review หรือไม่ ได้รับการทำดรรชนี (indexed) อยู่ในฐานข้อมูล ISI Web of Science, Scopus หรือไม่ มีค่า Impact factor หรือไม่ กองบรรณาธิการวารสารมีใครบ้าง มาจากประเทศอะไร มีชาวเอเชียหรือใครที่เรารู้จักหรือสามารถไปติดต่อสอบถามได้บ้าง ผู้แต่งบทความมาจากประเทศอะไรกันบ้าง สำนักพิมพ์มีชื่อเสียงหรือไม่ วารสารตีพิมพ์มานานแค่ไหนแล้ว ปีหนึ่งตีพิมพ์บ่อยครั้งแค่ไหน ปีละกี่ฉบับ กี่บทความ (เพื่อดูโอกาสที่บทความของเราจะได้ลงตีพิมพ์) วารสารกำหนดความยาวของบทความไว้เท่าไหร่ ให้เขียนกี่คำต่อบทความ เช่น 4,000-6,000 words หรือ 10,000 words ถ้าให้เขียนยาวมาก ก็จะยากขึ้น ถ้าภาษาไม่ดีพอ (ดูจำนวนคำได้โดยใช้คำสั่ง word count เวลาพิมพ์ใน MS word) rejection rate กี่เปอร์เซ็นต์ (ต้อง email ไปถามบรรณาธิการดู โดยปกติจะอยู่ที่ 50-60% แต่ถ้าวารสารชื่อดังมากเช่น science, nature จะประมาณ 97%) turnaround time นานแค่ไหน (บทความวารสารจะแสดงวันที่ received และวันที่ accepted เอาไว้ ดูว่าห่างกันกี่เดือน) กำหนดให้ใช้ citation style แบบไหน และต้องจ่ายค่าตีพิมพ์หรือไม่ ราคาเท่าไหร่ (โดยเฉพาะวารสาร Open access) ลองวิเคราะห์รายละเอียดของบทความที่คล้ายคลึงงานวิจัยของเรา ย้อนหลังไปสัก 3 ปี ว่าเป็นเรื่องอะไร ใช้ชื่อเรื่องว่าอย่างไร มีเรื่องทำนองนี้ได้ตีพิมพ์บ่อยแค่ไหน วิธีการวิจัยและผลการวิจัยเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้แต่ง เราคุ้นเคยชื่อเหล่านั้นหรือไม่ เช่นรู้จัก หรือใช้เป็น reference สำหรับงานวิจัยของเราอยู่แล้ว ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อดูว่า เราจะมีโอกาสได้ตีพิมพ์ในวารสารนี้หรือไม่

[ อ่านต่อ ตอนที่ 2 ]