บันทึกการเดินทาง ไปดูงาน IT, Library, KM และ WUNCA (ตอนที่ 4)

8 ส.ค. 55 : เช้านี้ ไปดูงานการจัดการความรู้ (KM) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากคุณเมตตา ชุมอินทร์ หัวหน้างานพัฒนาและฝึกอบรมกองการเจ้าหน้าที่ ช่วยเป็นธุระจัดการให้ เมื่อเห็นตารางกำหนดการแล้ว จัดเต็มพิกัดเลย แถมยังพบว่า ท่านรองอธิการบดี มอ. อาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา และคุณเที่ยง จารุมณี ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ จะมาต้อนรับด้วย .. ฝ่ายเราเลยรีบไปเชิญตัวท่านรองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศ ของมหิดล คือ ท่าน รศ.นพ. อาทิตย์ อังกานนท์ ที่มาร่วมงานประชุม WUNCA ให้ช่วยกรุณานำทีมพวกเราไปด้วย เพื่อให้เกียรติแก่ทางฝ่ายเจ้าภาพ

พอไปถึง อันดับแรก ถ่ายภาพร่วมกันที่ลานพระบิดา
ลำดับต่อไป เป็นการบรรยายให้พวกเราฟังแบบคุณภาพคบแก้ว ดังต่อไปนี้

1. ท่านรองอธิการบดี อาจารย์พิชิต เรืองแสงวัฒนา ได้เล่าให้ฟังถึงนโยบายด้าน KM ของ มอ. ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้ในองค์กร — มอ. มีนโยบายที่ชัดเจนมากในเรื่อง knowledge sharing โดยเฉพาะความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์ของบุคลากรสายสนับสนุน ส่วนสายวิชาการไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เนื่องจากมี KM ฝังอยู่ในกระบวนการของการทำวิจัยอยู่แล้ว KM ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือนำไปสู่ learning organization แผนพัฒนามหาวิทยาลัย 2555-2559 มี KM เป็นเป้าประสงค์ที่ 6 คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO PSU Model)

เรื่อง KM แล้วแต่จะเน้น บางแห่งอาจขึ้นอยู่กับงานประกันคุณภาพ หรืองานนโยบายและแผน หรืองานไอที .. แต่ที่ มอ. เห็นว่า KM เป็นเรื่องของการพัฒนาบุคลากร จึงให้กองการเจ้าหน้าที่เป็นหน่วยประสานงาน มีคณะกรรมการพัฒนาบุคลากร (อธิการบดีเป็นประธาน) มีคณะกรรมการ KM แต่ละคณะ และมี CKO (คุณเอื้อ) ประจำคณะ ใน SAR ของคณะให้เขียนรายงานการเรียนรู้การทำงานที่ดีขึ้น หรือนวัตกรรมการพัฒนางานที่ดีขึ้น เพิ่มอีก 1 บท เมื่อพบว่าคณะใดมีความโดดเด่น มีระบบหรือกระบวนการบางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น ให้คณะนั้นแบ่งปันความรู้โดยจัดกิจกรรมเวทีคุณภาพ เล่าความสำเร็จหรือความยากลำบาก หรืออาจทำความตกลง internal benchmarking ขอเข้าไปศึกษาเชิงลึกกับหน่วยงานที่เป็น Best Practice เลย ครึ่งปีหรือ 1 ปี ไม่ใช่เพียงแค่ชื่มชม … แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไป copy มาทั้งหมด เพราะอาจไม่ความสำเร็จ มันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและบริบทขององค์กรด้วย ผู้บริหารเบอร์หนึ่งต้องให้ความสำคัญกับ “โครงการพัฒนางาน” และต้องให้กำลังใจบุคลากร ไม่ให้ท้อแท้ใจไปก่อน ต้องมีทั้งการสนับสนุนเงินรายได้ และการยกย่องเชิดชูเกียรติ มีการจัดงานประกวดกันในระดับมหาวิทยาลัย และเอาผลไปใช้ในการคัดเลือกข้าราชการดีเด่นประจำปีด้วย

มอ. เน้นเรื่อง knowledge sharing ความรู้ไม่ต้องกลัวใครมาแย่ง คนเก่งก็เก่งอยู่นั่นแหละ share แล้วไม่ได้ทำให้เก่งน้อยลง แต่กลับทำให้เก่งยิ่งขึ้น ปัญหาของ มอ. ตอนนี้คือ ยังไม่ได้จัดเก็บความรู้ให้เป็นระบบเท่าที่ควร เล่ม reports ยังเป็นเล่มอยู่ ยังไม่ได้ digitize การเก็บความรู้จากผู้เกษียณหรือลาออก ยังไม่ work เท่าไหร่ ขนาดบริษัท IBM ยังยอมรับว่าการสกัดความรู้ (เช่น ออกมาเป็นคู่มือ) ทำได้แค่ 20% สิ่งที่เป็นทักษะ ยังคงอยู่ในหัว ติดตัวเขาไป สกัดออกมาไม่ได้ทั้งหมด อาจต้องทำเหมือนโครงการศิษย์ก้นกุฎิ ของ สกว.

2. ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ จากศูนย์พัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการความรู้และการเรียนรู้ (UsableLabs) คณะวิทยาการจัดการ ผู้สร้างชุมชนออนไลน์ gotoknow.org, classstart.org, researcher.in.th และ share.psu.ac.th มาเล่าเรื่องให้ฟัง และเชิญชวนให้พากันมาใช้ เพราะเป็นระบบชุมชนออนไลน์ครบวงจรที่ทำโดยคนไทย เพื่อประโยชน์ของคนไทยด้วยกัน ..

ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ของ gotoknow แล้ว ได้รับการสนับสนุนจาก สสส และ EGA (สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์) มีสมาชิก 168,725 ราย มีบล็อก 450,851 เรื่อง มีไฟล์ชนิดต่างๆรวม 754,991 ไฟล์ และมีจำนวน pageviews มากถึงเดือนละ 6-7 แสน ฯลฯ นับเป็นคลังความรู้จำนวนมหาศาลของประเทศนี้เลยทีเดียว และข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนใน gotoknow ส่วนใหญ่อายุ 40 up!!

ชุมชนออนไลน์จำเป็นต้องมีผู้ดูแลใส่ใจ หมั่นเก็บกวาดขยะอยู่เสมอ researcher.in.th มีปัญหา กำลังจะปิดกิจการยุบมารวมกับ gotoknow แล้วเพราะขาดคนดูแล

กลยุทธ์การสร้างชุมชนออนไลนอย่างยั่งยืน ต้องมี คน + ซอฟแวร์ + นโยบาย + เป้าหมาย … นโยบายและกฎระเบียบต้องมั่นคง มีจุดยืน

ปัญหาของการที่คนไม่ยอมแลกเปลี่ยน ที่สำคัญคือ 1. ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน (เช่น ถ้าเขียนบล็อกในเวลางาน ถือว่าผิด) 2. ไม่มีเวลา (แต่ถ้าคิดว่าสิ่งนี้สำคัญจะบันทึก) 3. เขียนไม่เป็น ไม่มีทักษะในการใช้ซอฟแวร์ 4. ไม่เห็นประโยชน์

เป้าหมายต้องวางภาพให้ชัดเจน .. เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสุนทรียสนทนาและคิดบวก เชื่อมโยงและสนับสนุนการสร้าง CoPs และเครือข่ายสังคม ส่งเสริมการเข้าถึงความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ สร้างคลังความรู้เชิงประสบการณ์ ส่งเสริมให้เกิดการจัดการความรู้ทางออนไลน์อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการเป็นพื้นที่เพื่อการสื่อสารองค์กรสู่สาธารณชน การหมุนเวียนของ tacit และ explicit knowledge เป็นไปตามทฤษฎีเซก-กี้ของ Nonaka SECI Model (Socialization, Externalization, Combination, Internalization)

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการสร้างชุมชนออนไลน์ คือ แรงจูงใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ มีความสัมพันธ์ที่ดี การสื่อสารมีประสิทธิภาพ การมีกลุ่มคนคอเดียวกัน (CoPs) และผู้นำที่เป็นแบบอย่าง

3. คุณเมตตา ชุมอินทร์ ในฐานะผู้ดูแลระบบ “ชานชาลาแห่งการเรียนรู้” share.psu.ac.th (ชุมชนออนไลน์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ได้เชื้อเชิญให้ผู้แทนจากคณะและหน่วยงานที่นำ share.psu.ac.th ไปใช้และประสบความสำเร็จ มานำเสนอ และแบ่งปันประสบการณ์ให้พวกเราฟังในวันนี้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ คณะทรัพยากรธรรมชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ คุณเมตตาบอกว่า คุณอำนวย (Facilitators) เป็นกลไกสำคัญที่จะคอยกระตุ้น และทั้ง 3 ท่านเป็น best practice

4. คุณมะลิ นิลสุวรรณ หรือ คุณมอนลี่ — ซึ่งทำหน้าที่เป็นคุณ Fa (Facilitator) คนเก่งประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะคอยเชียร์ให้คนอื่นๆในคณะหันมาเขียนบล็อกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบนระบบ share เริ่มเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2551 ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 4,100 กว่าบันทึกแล้ว (เก่งจัง) ได้รับการสนับสนุนมาตั้งแต่ระดับคณบดี .. รายละเอียดลองดูจากเว็บ KM ของคณะค่ะ http://www.natres.psu.ac.th/WEBSITE/km2/main.php

ความสำเร็จที่น่าชื่นชมคือ คุณธีระพงศ์ จันทรนิยม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ จากศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน ผู้ได้รับรางวัลบริการดีเด่นจากที่ประชุมสภาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) ประจำปี 2554 ได้ใช้ share เป็นช่องทางให้คำปรึกษาแก่กลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหา โดยสกัดความรู้ออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย นับเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ http://share.psu.ac.th/blog/mali-km/24277)

5. ผศ.ดร. รัญชนา สินธวาลัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาระบบคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มานำเสนอให้พวกเราฟัง ในเรื่องของการพัฒนางานของสายสนับสนุนด้วยโครงการ K-procedure ที่ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลจากทางมหาวิทยาลัย และมุ่งไปสู่การเป็น K-culture

ที่คณะวิศวะทำ KM ต่อเนื่องมา 5 ปี ต้องทำแบบย้ำๆ ไม่หยุด มีการจัดอบรม KM สัญจรไปทุกภาควิชาอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี สร้างความเข้าใจ อบรมการเขียนบล็อก ส่งเสริมการเขียน ให้รางวัล ค่าตอบแทน จัดกิจกรรมจิบน้ำชาอาจารย์ จิบน้กชานักวิจัย จิบน้ำชาบุคลากร มีการให้รางวัล Q-talk มี CoPs ชำนาญการ ฯลฯ

โครงการ K-procedure เริ่มทำในปี 2552 ต่างจากการเขียนคู่มือปฏิบัติงาน คือ เป็นการเขียนขึ้นเองโดยผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่ออธิบายขั้นตอนในการปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนและต้อง flow ต่อไปยังหน่วยงานอื่น ให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายแก่การเข้าใจของบุคคลที่มาติดต่อ นำขึ้นบนเว็บไซต์ ทำเป็นตารางลักษณะให้เหมือนๆกันทุกหน่วยงาน ประกอบด้วย ขั้นตอนหลัก ขั้นตอนย่อย ช่วงเวลา ผู้รับผิดชอบ รายละเอียดเอกสารที่เกี่ยวข้อง (PDF) และ tips ส่วนตัวเพื่อแนะนำคนอื่น รายละเอียดดูได้ที่นี่ค่ะ http://www.km.eng.psu.ac.th/

ผลการดำเนินงาน คือ ปี 2552 ได้มา 3 ผลงานจาก 2 หน่วยงาน ปี 2553 ได้มา 14 ผลงานจาก 5 หน่วยงาน พอมาถึงปี 2554 ได้มามากถึง 44 ผลงานจาก 7 หน่วยงาน

ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคือ การอบรมอย่างต่อเนื่อง (และอดทน) การประชาสัมพันธ์ และทำ PDCA เสมอ

แนวทางในการพัฒนาคือ ใช้ KM เป็นรากฐานของการพัฒนางาน และจะนำ lean management เข้ามาปรับปรุงขั้นตอนในการทำงานเดิม ให้กระชับขึ้น ลดขั้นตอนลงอีก และทำงานให้ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

— อาจารย์ผู้บรรยาย เก่ง และน่ารักมาก ระบบมีขั้นตอนเป๊ะๆ แบบวิศวกรเลย

6. คุณศักดิ์ชัยบดี สังข์แก้ว นักวิทยาศาสตร์ จากศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์มานำเสนอเรื่องราว KM โดยมี รศ.ดร. ชาคริต ทองอุไร ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มานั่งให้กำลังใจด้วย ที่ศูนย์ฯ มีบุคลากรรวม 40 กว่าคน ทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ จึงใช้ KM เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกลุ่ม สร้างความผูกพันธ์ทั้งหัวหน้าและลูกน้อง ตามวัฒนธรรมขององค์กร คือ “มุ่งเน้นคุณภาพ ยึดถือภราดรภาพ พร้อมรับการประเมิน”

เครื่องมือ KM ที่ใช้คือ สุนทรียสนทนา (Dialogue) และชุมชนแห่งการแบ่งปัน (Community of Sharing – CoS) ได้แก่ การจัดงาน KM Days เขียนบล็อกบน share (ปัจจุบันมีจำนวน 3,340 บันทึก) มีการสร้างคลังความรู้ Knowledge database ตั้งแต่ปี 2551 มี 70 เรื่องราว) ตอบคำถามเรื่องเครื่องมือวิทยาศาสตร์ผ่าน webboard (ตั้งแต่ปี 2547 มีผู้ชม 1,488,096 ครั้ง สมาชิก 772 คน 6,390 กระทู้) และที่ภาคภูมิใจมากคือ เคยมีคำถามปัญหาเรื่องการใช้เครื่องมือมาจากชาวต่างชาติที่ UK ด้วย !!

คุณศักดิ์ชัยบดี ยกตัวอย่างกิจกรรมสุนทรียสนทนา (Dialogue) คือ ให้คน 4 คน พูดคำว่า กระ – ต่าย – ตื่น – ตูม คนละคำพร้อมกัน จะพบว่า คนฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะต่างคนต่างพูด ไม่มีใครฟังใคร แต่ถ้าฟังอย่างเงียบๆและตั้งใจ จะเข้าใจความหมายของคำว่า “กระต่ายตื่นตูม” ได้ไม่ยาก

กิจกรรมที่จัดขึ้นจะมีการ feedback กลับทุกกิจกรรม มีการจัดตั้งทีมคุณภาพ คัดเลือกบุคลากร/ทีมคุณภาพประจำปี มอบรางวัลและให้ความดีความชอบ เกณฑ์ทีมคุณภาพ จะให้คะแนนบวกสำหรับการเขียนข้อเสนอแนะให้ในแบบประเมิน การเขียนบล็อก การจัด KM Day การช่วยตอบคำถามใน webboard และคะแนนลบ สำหรับการได้รับข้อร้องเรียน ข้อบกพร่อง และการได้รับใบร้องขอให้แก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Request : -CAR) จากการตรวจติดตามภายใน (Internal Quality Audit)

การฟังบรรยายและซักถาม จบลงในเวลาเที่ยงครึ่ง รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันแบบง่ายๆ อาหารพื้นเมืองที่แสนอร่อย (แน่นอนว่าต้องมี แกงส้มปลากระพง ด้วย) จากนั้นพวกเราต้องอำลา เพื่อไปดูงานต่อที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ มอ. ในช่วงบ่าย

ได้ความรู้มากมาย จากมหาวิทยาลัยที่เป็นสุดยอด KM ของประเทศไทย ขอบพระคุณมากค่ะ



Mirror site ที่ Gotoknow : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/498125

KM ของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล

ใครว่าคณะเรา ไม่มี KM .. วันที่ 8 ส.ค. 55 ที่จะถึงนี้ จะมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้าน KM ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดินแดนที่มีชื่อเสียงด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันดับหนึ่งของประเทศ เจ้าของเว็บชื่อดังอย่าง Gotoknow และ Share ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จึงได้สำรวจสภาวะแวดล้อมของคณะวิทย์ มหิดลของเรา ว่าพอจะมีกิจการอันใดที่แสดงถึง KM บ้าง จะได้เตรียมตัวไปแลกเปลี่ยนกับทาง มอ.

เมื่อสำรวจเสร็จแล้ว ก็พบว่า ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด — กิจการ KM ในปี 2555 พอจะสรุปได้ดังนี้ค่ะ

  • KM ของคณะเรา มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้าน People Excellence และ Management Excellence ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในและภายนอกองค์กร เพื่อพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้
  • คณะฯเริ่มมีแผนการดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี 2549 ตัวชี้วัดแบ่งออกเป็น KM1 = กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ/ชุมชนแนวปฏิบัติ Community of Practice; CoP) / KM2 : คลังความรู้ (Knowledge Asset; KA) / KM3 : การจัดทำคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure; SOP) / KM4 : โครงการปรับปรุงและพัฒนางาน : งานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research; R2R)
  • เครื่องมือและเทคนิค KM ที่ใช้บ่อย ได้แก่ Seminar (format, informal), Knowledge Sharing (Face to Face, Blogs), Just-in-time Knowledge Delivery (RSS Feed, Facebook), Story Telling, Dialogue (Think together), BAR : Before Action Review, AAR – After Action Review, Peer Assist, Best Practices, CoPs, R2R, Knowledge-expert List, Knowledge Capture, Knowledge Asset
  • ถ้าจะพูดถึงจำนวนประชากรในคณะฯ ซึ่งเป็นผู้ที่จะขับเคลื่อน KM — คณะมีบุคลากรสายวิชาการประมาณ 285 ราย และสายสนับสนุน (ระดับวิชาชีพ) ประมาณ 365 ราย
  • กิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นพันธกิจหลัก คือ การวิจัยและการเรียนการสอน
  • กิจกรรมด้านการวิจัย ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) และจับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ (Knowledge Capture) โดยเชิญผู้รู้มาร่วมเสวนาเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เช่น กิจกรรม MUSC Research Forum, Lunch with the Dean, Science Café อาจมีการบันทึกวิดีโอ ภาพ และเขียนสรุปขึ้นบนเว็บ บางภาควิชามีกิจกรรมที่เรียกว่า Faculty Seminar, Alumni Seminar, และ Student Forum ด้วย

  • สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน เรามี R2R forum ซึ่งทางคณะพยายามเสนอ motivation ให้อย่างเต็มที่ เช่น ให้ทุนวิจัย R2R (50,000 บาท/โครงการ) รวมทั้งให้ทุนพัฒนานักวิทยาศาสตร์ ทุนพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ทุนวิจัยและพัฒนาองค์กร ทุนอุดหนุนการไปเสนอผลงานทางวิชาการ ณ ต่างประเทศ และ รางวัลผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ เป็นต้น
  • กิจกรรมด้านการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสุนทรียสนทนา (Dialogue) เช่น เสวนาเตรียมความพร้อมสำหรับ 21st Century Skills, กลุ่มเพื่อนครูมหิดล, กลุ่ม PENTHAI (Physics Education Network of Thailand), เสวนานักเขียนในงานบุ๊คแฟร์ เป็นต้น

  • ส่วน ชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs) เรามีกันหลายชมรม เช่น ชมรมอยู่ดีมีสุข ชมรมผู้ใช้ไอที ชมรมเรียนรู้สู่อาเซียน ชมรม R2R ชมรมฟันเฟือง ชมรมเพื่อน ชมรมพุทธศิลป์ ชมรมทัศนศิลป์ รวมทั้งกิจกรรม Morning Talk ของบุคลากรห้องสมุด (สามารถขอรับการสนับสนุนเงินสวัสดิการคณะฯ ได้ชมรมละ 30,000 บาทต่อปี)
  • และหากจะพูดถึง คลังความรู้ (Knowledge Asset) แน่นอนว่าเราใช้ ICT-based เป็นส่วนใหญ่ ทั้ง Websites (Internet & Intranet) ซึ่งมีทั้งระดับคณะ ระดับหน่วยงาน (12 ภาควิชา 12 งาน) เว็บไซต์ส่วนบุคคลของอาจารย์และบุคลากร ร่วมกับการใช้ Social Network ต่างๆ เช่น Blogs, Wiki
  • เว็บไซต์ทั้ง domain ของคณะวิทยาศาสตร์ .sc.mahidol.ac.th เคยได้รับรางวัลจากการประกวด Mahidol University Web Contest ติดต่อกัน 3 ปี (2008-2010) และมีสถิติการเข้าเยี่ยมชมวัดด้วยระบบ TrueHits ค่อนข้างสูง โดยอยู่ในอันดับประมาณที่ 4-5 จาก 175 domains ของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • สำหรับ social media ชาวคณะวิทย์ นิยมใช้ wordpress ในการเขียน blog (สร้างไว้ที่ wordpress.com และสร้างไว้บน server ของคณะ) แต่มีบ้างที่ใช้ blogspot และ gotoknow ส่วน wiki มีไม่มาก เช่น ที่ห้องสมุดสตางค์ มีการใช้ doku wiki
  • ส่วนเครื่องมือ social media อื่นๆ ใช้กันตามสมัยนิยม เช่น Facebook, Google+, Twitter, YouTube, Pinterest, Flickr, Instagram, LinkedIn, Skype, Google Hangout, Scribd, Slideshare, Google Docs, Dropbox และสร้าง e-learning / LMS โดยใช้ Moodle เป็นต้น

เป็นที่รู้กันว่า ประชาคมของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเป็นปัจเจกสูง ดังนั้น KM ที่นี่จึงไม่เหมือนที่อื่น มีความเป็น chaordic (chaos + order) และยากที่จะ control จาก top-down — แต่ถึงอย่างไรเสีย ที่นี่ก็มี KM ค่ะ

การประชุม CoPs มหาวิทยาลัยมหิดล

27-28 ส.ค. 52

ไปเข้าร่วมประชุม “เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ CoPs : การพัฒนาเครือข่ายภายใน” จัดโดย กองพัฒนาคุณภาพ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ ร.ร. รอยัลริเวอร์แคว รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดกาญจนบุรี มีตัวแทนจากคณะ สถาบันต่างๆเข้าร่วมประมาณ 60 กว่าคน

เก็บตกเกร็ดความรู้ หรือข้อมูลบางอย่างที่ประทับใจ เอาไว้ในบล็อกนี้ … กันลืมค่ะ

  • มหาวิทยาลัยมหิดล เน้น Learning (เรียนรู้) มากกว่า Training (ฝึกอบรม) ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จึงใช้การเสวนาแบบไม่มีกรอบ แม้จะมีวิทยากรมาบรรยาย แต่ให้ทุกคนแลกเปลี่ยนความรู้ และมีส่วนร่วม และเห็นว่า CoPs หรือกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ จะเป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนช่วยทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นในมหาวิทยาลัย
  • ได้ฟังบรรยาย จาก ผศ. เอี่ยม ทองดี จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย เป็น Story Telling ชั้นเยี่ยมระดับบรมครูเลยทีเดียว อาจารย์เล่าเรื่อง (โดยไม่ต้องใช้ powerpoint) พูดให้ฟังถึงการเปลี่ยนพลังปัจเจก ให้เป็นพลังของกลุ่ม จนสามารถสร้างเป็นกลุ่มวิจัย (Research Cluster) ได้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือ ลดช่องว่างระหว่างอาจารย์ กับนักวิจัย ลดช่องว่างระหว่างกลุ่มผู้ที่ถนัดการเรียนการสอน กับกลุ่มผู้ที่ถนัดการทำวิจัย เป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้มีประสบการณ์ไปสู่เด็กรุ่นหลัง เป็นการรวมพลังความคิด และเพิ่มอำนาจการต่อรองในการขอทุนวิจัย จนทำให้เงินทุนวิจัยของสถาบัน ซึ่งเดิมมีแค่ปีละ 5 ล้าน กลายมาเป็นปีละ 30 ล้านบาทได้
  • จากนั้น ได้ขยาย CoP จากภายในสถาบัน ออกมาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในมหาวิทยาลัย และระหว่างมหาวิทยาลัย จนไปถึงระดับชุมชน อาจารย์เล่าให้ฟังว่า จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่มากที่สุดในประเทศไทย เช่น ม.มหิดล ม.เกษตรศาสตร์ ม.ศิลปากร … แต่ชาวบ้านถามว่า มหาวิทยาลัยเหล่านั้น ทำอะไรให้ชุมชนบ้าง มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก แล้วชุมชนจะได้อะไร ฯลฯ นอกจากนั้น มีหลายหน่วยงานที่พากันไปเก็บข้อมูล หรือทำวิจัยในชุมชน แบบต่างคนต่างไป พวกใครพวกมัน บางครั้งก็มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันด้วยซ้ำไป แต่ไม่ Co กัน สร้างความงงให้ชุมชน …
  • ต่อมาจึงเกิดการรวมตัวกันของทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ชวนกันมาพบปะพูดคุยกันที่เรือนไทย ศาลายา เป็น CoP เพื่อให้เกิดพลัง สร้างโจทย์วิจัยในการแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน โดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เช่น การแก้ปัญหากองขยะ กทม. ที่อยู่ใกล้กับ ม. เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นต้น ต่อมาก็สามารถแตกขยาย มีกลุ่มวิจัยจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ สถาบันกรุงเก่าเพื่อการพัฒนา มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เขตอนุรักษ์พันธุสัตว์ป่าของกรมป่าไม้ เป็นต้น
  • ที่ประทับใจมาก คือ อาจารย์เอี่ยมบอกว่า นึกไว้ตลอดเวลาว่า ตนเองเป็นลูกสมเด็จพระราชบิดา จึงมีพลังทำงานแบบทุ่มสุดตัว ปัญหาอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา ทำดีแค่ไหน บางคนก็มองไม่ดีอยู่ดี
  • เมื่อจบการบรรยายแล้ว อาจารย์สมเกียรติ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาคุณภาพ จึงสรุปว่า อาจารย์เอี่ยม ที่แท้เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามวัฒนธรรมองค์กรของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างยิ่ง คือ M-Mastery เป็นนายแห่งตน A-Altruism มุ่งผลเพื่อผู้อื่น H-Harmony กลมกลืนกับสรรพสิ่ง I-Integrity มั่นคงยิ่งในคุณธรรม D-Determination แน่วแน่ทำกล้าตัดสินใจ O-Originality สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และ L-Leadership ใฝ่ใจเป็นผู้นำ

นอกจากนั้น ตลอดการสัมมนาทั้ง 2 วัน มีอาจารย์สัญชัย จากคณะสิ่งแวดล้อมฯ เป็นวิทยากรในการจัดกิจกรรมกลุ่มเป็นระยะๆ ให้แนวคิดผ่านการเล่นเกมสนุกๆ เพื่อให้มีมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม (เสียบ้าง) มีหลายเกมที่ยังงงไม่หาย เช่น

squares

มีสี่เหลี่ยมจัตุรัสภายในภาพนี้ จำนวนเท่าใด ? (เฉลย … คำตอบคือ 30 ค่ะ)

ให้นึกตัวเลขอะไรก็ได้ (ตั้งแต่เลข 1 จนถึง infinity) เอาไว้ในใจ จากนั้นให้

  • คูณด้วย 2
  • บวกด้วย 5
  • บวกด้วย 12
  • ลบด้วย 3
  • หารด้วย 2
  • ลบด้วย ตัวเลขที่เรานึกไว้ในใจ

คำตอบที่ได้ จะเหมือนกันหมด คือ 7 (ไม่เชื่อก็ลองดูสิคะ) …