ประเภทของการวิจัย

วันจันทร์ที่ 20 มิ.ย. 54 นี้ จะเริ่มโครงการสนับสนุนบุคลากรให้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาองค์กร .. กิจกรรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ของหน่วยงานเรา (Stang Library KM) ดังนั้น ต้องเตรียมข้อมูลไปเสวนากันหน่อย หาหัวข้อเพื่อขอทุนทำโครงการวิจัย R2R กันดีกว่า อันดับแรกต้องปูพื้นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัยก่อน

ประเภทของการวิจัย
จำแนกตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
– การวิจัยเฉพาะศาสตร์ (Monodisciplinary Research)
– การวิจัยสหสาขาวิชา หรือสหวิทยาการ (Interdisciplinary Research)

จำแนกตามสาขาวิชา
– การวิจัยทางวิทยาศาสตร์
– การวิจัยทางสังคมศาสตร์
– การวิจัยทางมนุษยศาสตร์

จำแนกตามลักษณะของข้อมูล
– การวิจัยเชิงปริมาณ (Quanlitative Research) ข้อมูลเป็นตัวเลข สมการ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ อาศัยเทคนิคทางสถิติมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล
– การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลข แต่เป็นข้อความบรรยายคุณลักษณะ สภาพเหตุการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
– การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Method Research)

จำแนกตามสมมุติฐาน
– การวิจัยเชิงอนุมาน (นิรนัย, deductive Research) – hypothesis-testing method
– การวิจัยเชิงอุปมาน (อุปนัย, inductive research) – hypothesis-generating method

จำแนกตามประโยชน์ของการนำผลการวิจัยไปใช้
– การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) หรือการวิจัยบริสุทธิ์ (Pure Research) เป็นการวิจัยที่ค้นหาหลักการ กฎ ทฤษฎี เพื่อขยายพื้นฐานความรู้ทางวิชาการให้กว้างขวางออกไป
– การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) เป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำผลไปใช้เพื่อปรับปรุงสภาพของสังคม และความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น เช่น ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา
– การวิจัยเชิงปฎิบัติการ (Action Research-AR) เป็นการวิจัยเพื่อนำผลมาใช้แก้ปัญหาในการปฏิบัติงาน
– การวิจัยดำเนินงาน หรือการวิจัยปฏิบัติการ (Operations Research-OR) การนำเอาปัญหาข้อจำกัดในการปฏิบัติ มาวิเคราะห์และสรุปออกมาเป็นตัวเลขเพื่อใช้ในการตัดสินใจ
– การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR)
– การวิจัยชุมชน (Community-based Research)

จำแนกตามความมุ่งหมายของการทำวิจัย
– การวิจัยเพื่อค้นหา หรือการวิจัยเชิงบุกเบิก (Exploratory Research)
– การวิจัยเชิงตีความ (interpretive research) เป็นความพยายามที่จะขุดค้นทฤษฎีจากตัวข้อมูล มากกว่าจากสมมุติฐานที่ตั้งไว้
– การวิจัยเชิงพรรณนา หรือเชิงบรรยาย (Descriptive Research)
– การวิจัยเชิงอรรถาธิบาย หรือการวิจัยเชิงวิเคราะห์ (Explanatory Research / Analytical Research) ศึกษาเหตุการณ์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุจากอะไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
– การวิจัยเชิงพยากรณ์ หรือคาดการณ์ (Predictive Research) ศึกษาสภาพเหตุการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อทำนายอนาคต

จำแนกตามระเบียบวิธีวิจัย
– การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความจริงในอดีตที่ผ่านมา
– การวิจัยเชิงพรรณนา หรือเชิงบรรยาย (Descriptive Research) เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความจริงในสภาพปัจจุบัน
– การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) หรือการวิจัยสำรวจตัวอย่าง (Sample survey research)
– การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ของตัวแปร (Interrelationship Research)
– การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Correlational Research) ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป เช่น ความคิดสร้างสรรค์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีสหสัมพันธ์กันหรือไม่?
– การวิจัยเชิงทฤษฎี (Theoretical research) ค้นคว้าหาทฤษฎีใหม่
– การวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical Research) เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานจากแหล่งปฐมภูมิ ใช้วิธีการทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสิ่งที่มีจริงคือสิ่งที่สังเกตได้
– การวิจัยเชิงวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่ประจักษ์ (Non-empirical Research) อาศัยข้อมูลที่มีอยู่แล้วในเอกสาร มักใช้การวิพากษ์วิจารณ์แทนการใช้วิธีการทางสถิติ
– การวิจัยเชิงทดลอง (Experimantal Research) ควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง แล้ววัดผลตัวแปรตาม
– การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi-expertimental Research) ควบคุมตัวแปรอิสระที่ไม่ต้องการได้เพียงบางตัว
– การวิจัยเชิงทดลองที่แท้จริง (True-Experimental Research)
– การวิจัยเชิงธรรมชาติ (Nationalistic Research) ค้นหาความจริงของสภาพการณ์ ใช้การสังเกตการณ์เป็นสำคัญ
– การวิจัยเชิงเหตุผลเปรียบเทียบ (Causal-comparative research) / การวิจัยย้อนรอย (Expost facto research) จากผลไปเหตุ
– การวิจัยเอกสารและการวิเคราะห์เนื้อหา (Documentary Research)
– การวิจัยกรณีศึกษา (Case Study Research) เก็บข้อมูลในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กหรือบุคคล แบบเจาะลึก
– การวิจัยเชิงพัฒนาการ (Developmental Research)
– การวิจัยเชิงพัฒนาระบบ (Research and Development)
– การวิจัยแนวโน้ม (Trend Research)
– การวิจัยเชิงก่อ หรือเชิงพัฒนาสร้างสรรค์ (Constructive Research) เป็นการพัฒนาทางแก้ปัญหา
– การวิจัยปรับใช้ (Adaptive Research)
– การวิจัยประเมินผล (Evaluation Research)
– การวิจัยโดยการสังเกตการณ์ หรือการวิจัยเชิงสังเกต (Observational Research)
– การวิจัยแบบตัดขวาง (Cross sectional Research) เก็บข้อมูลเพียงครั้งเดียวแล้ววิเคราะห์หาความแตกต่างหรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ
– การวิจัยระยะยาว (Longtitudinal Research) มีการเก็บข้อมูลมากกว่า 1 ครั้ง แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ เป็น growth study
– การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Research) สังเกตพฤติกรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ของกลุ่มคนในสังคมและวัฒนธรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
– การวิจัยทางมานุษยวิทยา (Anthropological Research)
– การวิจัยภาคสนาม (Field Research)
– การวิจัยเพื่อการวางแผน (Planning Research)
– การวิจัยแบบสำมะโน (Census Research) เก็บข้อมูลจากทุกหน่วยของประชากรที่ต้องการศึกษา
– การวิจัยนโยบาย (Policy Research)
– การวิจัยเชิงจำลอง (simulation Research)
– การวิจัยเชิงอนาคต (Futures / Futuristic Research) เป็นการวิจัยเพื่อวางแผนหรือคาดคะเนอนาคต

งานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ความหมายของคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” ตามมาตรฐานของหลักสูตรที่กำหนดโดยสมาคม Association for Computer Machinery (ACM) หมายถึง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่ใช้ในการจัดการสารสนเทศ ตั้งแต่คัดเลือก รวบรวม จัดเก็บ สร้าง ประมวลผล ประยุกต์ใช้ และบริหารจัดการ เพื่อให้ระบบสารสนเทศมีความเหมาะสม และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ภายในองค์การและสังคม โดยมีโครงสร้างขององค์ประกอบหลักที่เกี่ยวข้อง 5 ประการ คือ 1. การเขียนโปรแกรม (programming) 2. ระบบเครือข่าย (networking) 3. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (human-computer interaction) 4. ฐานข้อมูล (databases) และ 5. ระบบเว็บ (web system) ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 5 ประการ จะมุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดร่วมกัน 2 ประการ คือ ความเชื่อถือได้และความปลอดภัยของสารสนเทศ (information assurance & security) และความเป็นวิชาชีพ (professionalism)

สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบไปด้วยองค์ความรู้ หรือ IT body of knowledge 13 ด้าน ได้แก่

  1. พื้นฐานเทคโลยีสารสนเทศ (Information Technology Fundamentals)
  2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interaction)
  3. ความมั่นคงปลอดภัยและความเชื่อถือได้ของสารสนเทศ (Information Assurance and Security)
  4. การจัดการสารสนเทศ (Information Management)
  5. การบูรณาการการเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยี (Integrative Programming and Technologies)
  6. คณิตศาสตร์และสถิติสำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศ (Math and Statistics for IT)
  7. ระบบเครือข่าย (Networking)
  8. พื้นฐานการเขียนโปรแกรม (Programming Fundamentals)
  9. แพลตฟอร์มเทคโนโลยี (Platform Technologies)
  10. การบำรุงรักษาและการบริหารระบบ (Systems Administration and Maintenance)
  11. สถาปัตยกรรมและการบูรณาการระบบ (System Integration & Architecture)
  12. ประเด็นทางสังคมและวิชาชีพ (Social and Professional Issues)
  13. ระบบเว็บและเทคโนโลยี (Web Systems and Technologies)

อ้างอิง : Lunt, Barry M. et al. (2008). Information Technology 2008. Curriculum Guidelines for Undergraduate Degree Programs in Information Technology. Association for Computing Machinery (ACM) IEEE Computer Society.

ขอบข่ายของงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จำแนกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ประเด็นการวิจัยที่มุ่งเน้นอรรถประโยชน์ เพื่อพัฒนาองค์กรด้านต่างๆ เช่น การบัญชี การเงิน การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การตลาด ระบบสารสนเทศองค์กร การจัดการผลิตและการดำเนินงาน เช่นระบบ ERP เป็นต้น
  2. ประเด็นการวิจัยที่มุ่งเน้นความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น web technology, ubiquitous technology, clod computing, tag, semantic web เป็นต้น

ปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในศตวรรษที่ 21 ได้เกิดขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อปี 2553 สภาที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา (President’s Council of Advisors on Science and Technology) ได้เสนอแนวทางในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นโครงการระดับชาติ เรียกว่า Networking and Information Technology Research and Development (NIT-RD) Program โดยจะให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลกระทบต่อชาวโลกในวงกว้าง ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในวงการแพทย์และสาธารณสุข ซอฟแวร์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ การบริหารจัดการสารสนเทศและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ การพัฒนาแรงงานเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและปกป้องความเป็นส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต

สุนทรียภาพแห่งการวิจัย

20 ตุลาคม 2552

วันนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จัดงานครบรอบ 51 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (21 ต.ค. 2501) ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 17 โดยในปีนี้องค์ปาฐกคือ ศาตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ ท่านบรรยายเรื่อง “สุนทรียภาพแห่งการวิจัย : ประสบการณ์ของนักมนุษยศาสตร์”

แน่นอนว่า การที่มีโอกาสได้ฟังนักปราชญ์พูด ย่อมบังเกิดความคิดและปัญญา ไม่มากก็น้อย … ตัวเองไม่ค่อยมีปัญญามากนัก ก็เลยพยายามจดคำพูดของอาจารย์ลงบนกระดาษ ถูกบ้างผิดบ้าง และได้เรียนให้ท่านอาจารย์ทราบแล้ว จะเอามาเขียน blog

You have put so many of my thoughts in words … มีหลายตอนที่โดนใจ เช่น

มีปัญหาหลายอย่างที่มนุษย์ตอบไม่ได้ เราหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ วิชาของเราไม่มีที่สิ้นสุด การวิจัยของเราไม่ใช่โครงการวิจัย แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต … ความพึงพอใจส่วนตน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราแสวงหาโจทย์วิจัย อย่าถามคำถามโง่ๆ ว่า จะวิจัยเรื่องอะไรดี จึงจะได้ทุน …

อันที่จริงเคยอ่านบทความของอาจารย์เรื่อง “การวิจัยในฐานะความพึงพอใจส่วนตน ?” จำไม่ได้แล้วว่าเอามาจากไหน แต่ได้คัดลอกเอามาเก็บไว้ที่เว็บห้องสมุดสตางค์ [ ที่นี่ ] เป็นเวลายาวนานถึง 6 ปีมาแล้ว เพราะชอบมาก ไม่นึกเลยว่าจะได้มาฟังบรรยายตัวเป็นๆ แบบนี้

Beautiful Soul วิญญาณที่งามงด .. ความรู้เมื่อถึงขั้นหนึ่ง จะกลายเป็นสุนทรียภาพ เป็นความรู้อีกระดับหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจริญใจและความประเทืองปัญญาไปพร้อมๆกัน ใครก็ตามที่สามารถผสานความพึงพอใจส่วนตน กับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อตอบคำถามแก่สังคม ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าทำอย่างนั้นได้ ก็จะพบสุนทรียภาพแห่งการวิจัย

กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)

กรอบแนวคิดในการวิจัย (Conceptual Framework) เป็นขั้นตอนหนึ่งในการเขียนโครงร่างการวิจัย (Research Proposal) เป็นการสรุปความคิดของผู้ทำวิจัย ได้แก่ สิ่งที่ผู้วิจัยต้องการทำนั้นมีรูปแบบและทิศทางใด มีประเด็นใดบ้างที่ต้องการทำวิจัย และความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ที่กำหนดไว้เป็นข้อสมมุติฐานในการศึกษาวิจัย ทั้งตัวแปรต้น (ตัวแปรอิสระ) และตัวแปรตาม

ผู้ทำวิจัย จะสรุปความคิดหรือสร้างมโนภาพ (Concept) เพื่อนำมาสร้าง Conceptual Framework ได้ จะต้องอาศัยการอ่านทบทวนผลงานวิจัยอื่นๆ และศึกษาทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน แล้วนำมาผสมกับแนวความคิดและประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง

รูปแบบการวิจัย (Research Design)

7 ส.ค. 52

ต้องส่งข้อเสนอโครงการวิจัย ก่อนวันที่ 15 ส.ค. 52 นี้ … แต่ทำไม่เป็น เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ (เลยแม้แต่น้อย) … ทั้งชีวิตทำงานอยู่กับผลงานตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริหาร สงสัยชีวิตที่เหลือ คงต้องเริ่มศึกษาวิธีการทำวิจัยเสียบ้างแล้วล่ะ จะได้หัดคิดอะไรเป็นระบบกับเขาเสียบ้าง

ว่าแล้วก็เรียนลัดทางอินเทอร์เน็ต ขอบคุณทุกท่านที่อุตส่าห์ทิ้ง sheet และ powerpoint ให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่นนะคะ

รูปแบบการวิจัย (Research Design) มี 2 แบบ คือ

  1. การวิจัยโดยการทดลอง (Experimental Research) มีการกำหนดปัจจัยเสี่ยง (Exposure) หรือสิ่งแทรกแซง (Intervention)
  2. การวิจัยโดยการสังเกต (Observational Research) ใช้การเฝ้าสังเกต ไม่มีการกำหนดปัจจัยเสี่ยง หรือสิ่งแทรกแซง

การวิจัยโดยการสังเกต (Observational Research) มี 2 แบบ คือ

  1. การวิจัยเชิงพรรณนา (Observational Descriptive Studies) ไม่มีกลุ่มควบคุม หรือกลุ่มเปรียบเทียบ
  2. การวิจัยเชิงวิเคราะห์ (Observational Analytic Studies) มีกลุ่มควบคุม หรือกลุ่มเปรียบเทียบ

การวิจัยโดยการสังเกตเชิงพรรณนา (Observational Descriptive Studies) มี 2 แบบ คือ

  1. การวิจัยเชิงพรรณา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง แบบตัดขวาง (Cross-sectional Descriptive Studies)
  2. การวิจัยเชิงพรรณนาระยะยาว (Longitudinal Descriptive Studies)

การวิจัยโดยการสังเกตเชิงวิเคราะห์ (Observational Analytic Studies) มี 3 แบบ คือ

  • การวิจัยเชิงวิเคราะห์ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (Cross-Sectional Analytic Studies)
  • การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบไปข้างหน้า จากเหตุไปหาผล (Prospective Analytic Studies / Cohort Studies)
  • การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง จากผลไปหาเหตุ (Retrospective Analytic Studies / Case-control)
  • กล่าวกันว่า ผู้ที่แก้ปัญหาโจทย์วิจัยเก่ง จะต้องเข้าใจในอริยสัจ 4 เป็นอย่างดี คือ ทุกข์ (เข้าใจตัวปัญหา) – สมุทัย (ศึกษาต้นเหตุแห่งปัญหา) – นิโรธ (กำหนดกลยุทธ์ในการแก้ปัญหา) – มรรค (ดำเนินการแก้ปัญหา ตามแนวทางที่เลือกไว้) … เราไม่ได้เรื่องทั้งคู่ ทำไงดี …