ได้อะไร ? จากการไปงานประชุม Elsevier eBooks Forum 2019 ที่สิงคโปร์

เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2562 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุม Elsevier eBooks Forum 2019 ที่ประเทศสิงคโปร์ ในหัวข้อ “Transforming Research Through Analytics and Insights” มีผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้รับเชิญจากประเทศต่าง ๆในอาเซียน จำนวน 56 คน วิทยากรรับเชิญเป็นผู้บริหาร อาจารย์ นักวิจัย ที่มีประสบการณ์ในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ในการบริหาร การสอน และการวิจัย มาบรรยายและร่วมเสวนา 

elsevier.jpg

วิทยากรท่านแรกคือ Dr. Wasim Arif จาก National Institute Of Technology, Silchar ประเทศอินเดีย บรรยายในหัวข้อ “Co-using Books & Journals: New directions for discovery solutions” ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การนำเสนอข้อมูลจากบทความเรื่อง “India by the Number” ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปี 2015 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลงานตีพิมพ์ของประเทศอินเดีย ยังไม่ดีมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ผู้บรรยายได้เล่าประสบการณ์ในการใช้ฐานข้อมูล ScienceDirect ในลักษณะของ “Co-usage” คือ การสืบค้นตามความต้องการของแต่ละบุคคล และใช้เนื้อหาจากหนังสือและวารสารควบคู่ไปพร้อมๆ กัน อย่างไร้ขอบเขต โดยเฉพาะ The International Encyclopedia of the Social and Behavioral Sciences, 2nd Edition (IESBS) ซึ่งเป็นหนังสือประเภท Reference Work ที่สำคัญ ได้รับการ download ในจำนวนค่อนข้างมากเช่นเดียวกับบทความวารสาร  นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึง Big 3 หรือ Big Data + Data Science + Data Analytics ซึ่งมีความสำคัญมากในศตวรรษที่ 21  

วิทยากรท่านที่ 2 คือ Prof. Abdul Wahab Mohammad ซึ่งมีตำแหน่งเป็น Deputy Vice Chancellor ของ Universiti Kebangsaan Malaysia บรรยายในหัวข้อ “Forecasting Research Trends using Elsevier Data and Reference Solutions” โดยนำเสนอวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยเพื่อดู research trend โดยใช้เทคนิค  bibliometric analysis และ state-of-the-art analysis รวมทั้งแนะนำโปรแกรมสร้าง bibliometric network ในลักษณะ Visualization  เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัยในฐานข้อมูล Scopus/ScienceDirect ที่มีชื่อว่า VOSviewer 

วิทยากรท่านที่ 3 คือ รศ. เภสัชกร ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายในหัวข้อ Empowering performance and outcome through technology and data analytics” โดยเล่าประสบการณ์ในการใช้ฐานข้อมูล Scopus, ScienceDirect (ทั้งหนังสือและวารสาร), SciVal, SJR เป็นเครื่องมือที่ช่วนสนับสนุนการทำงานทั้งด้านการสอนและการวิจัย

วิทยากรท่านที่ 4 คือ Prof. Dr. Jonathan R. Dungca, Dean, Gokongwei College of Engineering, De La Salle University บรรยายในหัวข้อ The use and application of academic resources in interdisciplinary research” ซึ่งผู้บรรยายได้เล่าถึงประสบการณ์ในการใช้ฐานข้อมูล Scopus, SciVal, ScienceDirect (ทั้งหนังสือและวารสาร) ในการวิเคราะห์และสนับสนุนการวิจัยที่เป็น  interdisciplinary research ซึ่งเป็นลักษณะของการวิจัยที่จะช่วยเพิ่ม reseach productivity ให้แก่มหาวิทยาลัย

วิทยากรท่านที่ 5 คือ Andy Albrecht, Product Manager, Elsevier บรรยายในหัวข้อ “Transforming Content, Transforming Results: Elsevier’s platform, analytics and technology-led strategy” แนวโน้มของบริษัท Elsevier ต่อไปจะไม่ได้เป็นเพียงสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือและวารสารเท่านั้น แต่จะผลิตฐานข้อมูลที่หลอมรวม Content, Technology และ Analytics เพื่อแสวงหาคำตอบช่วยในการทำวิจัย และแสดงให้เห็นแนวโน้มแต่ละประเทศ ที่ใช้ ScienceDirect co-usage หรือการใช้และเชื่อมโยงไปมาระหว่างบทในหนังสือและบทความวารสาร (ตามภาพ)

Screen Shot 2562-10-08 at 23.01.00.png

จากนั้น ได้มีกิจกรรมระดมความคิดเห็นกลุ่ม ในหัวข้อ ประสบการณ์ในการใช้ data analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการบอกรับทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และได้มีการไปเยี่ยมชมและดูงานห้องสมุด Lee Wee Nam Library มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University (NTU) และชมการสาธิตวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติการใช้ e-batabases โดยใช้  Qlik: Data Analytics for Modern Business Intelligence ของห้องสมุดดังกล่าว

 

โครงสร้างองค์กรของห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกงและสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน 2562 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเข้าร่วมประชุม Wiley APAC Library Abvisory Board (LAB) Meeting 2019 ที่สิงคโปร์ และมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุย ฟังการบรรยายจากผู้อำนวยการหอสมุดมหาวิทยาลัยหลายท่าน ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการห้องสมุดมหาวิทยาลัยในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และมีผลงานความสำเร็จในการบริหารห้องสมุดเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในฮ่องกงและสิงคโปร์ เพื่อศึกษาแนวทางการจัดโครงสร้างองค์กร การจัดอัตรากำลังและขีดความสามารถของบุคลากรที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน  ขอนำข้อมูลที่ได้มาเล่าสู่กันฟังดังนี้ค่ะ

  • ห้องสมุดมหาวิทยาลัยของรัฐในเกาะฮ่องกงมีจำนวน 8 แห่ง และมีเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งมาก มีชื่อว่า The Joint University Librarians Advisory Committee (JULAC) ผู้อำนวยการหอสมุดของฮ่องกงที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงในวงการ อาทิ Ms. Diana Chang (ไดอาน่า ชาง) จาก Hong Kong University Science and Technology (HKUST) Library, Dr. Shirley Wong (เชอร์ลีย์ หว่อง) จาก The Hong Kong Polytechnic University Library, และ Mr. Peter Sidorko (ปีเตอร์ ไซดอร์กุ) จาก The University of Hong Kong Library
  • ห้องสมุดมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์มีจำนวน 6 แห่ง มีบริหารจัดการเป็นเอกเทศ ไม่มีเครือข่ายความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ เหมือนฮ่องกง  ผู้อำนวยการหอสมุดที่สำคัญ ได้แก่ Mrs LEE Cheng Ean (ลี เชง เอียน) จาก  National University of Singapore (NUS) Library, Ms. Caroline Pang (แคโรไลน์ พัง) จาก Nangyang Technological Univesity (NTU) Library และ Ms. Gulcin Cribb (กลูซิน คริบ) จาก Singapore Management University (SMU) Library
  • ข้อสังเกตคือ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยของฮ่องกงและสิงคโปร์ ไม่ได้ใช้อัตรากำลังจำนวนมาก แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีการแบ่งโครงสร้างองค์กรที่ทันสมัย แตกต่างไปจากห้องสมุดแบบเดิม ๆ และบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นลูกค้าเป็นสำคัญ
  • มหาวิทยาลัย NTU มีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยกำหนดให้ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของ Office of Information, Knowledge and Library Services (OIKLS) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ช่วยอธิการบดี Deputy Associate Provost (Information and Knowledge) ผู้บริหารประกอบด้วย ผู้อำนวยการ (OIKLS Director) และรองผู้อำนวยการ (Deputy Director) จำนวน 4 ฝ่าย (ตามภาพ) ฝ่ายห้องสมุด (Library) เน้นในเรื่องการบริการผู้ใช้และพื้นที่ให้บริการ  ฝ่ายสารสนเทศ (Information) เน้นในเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายความรู้  (Knowledge) เน้นเรื่อง การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการวิจัยและวิชาการ  ซึ่งรวมถึง Digital Scholarship, Research Data Management และ Scholarly Publishing & Impact

Screen Shot 2562-09-07 at 08.05.38.png

  • มหาวิทยาลัย NUS ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างใหม่ โครงสร้างผู้บริหารประกอบด้วย ผู้อำนวยการหอสมุด (University Librarian) และรองผู้อำนวยการ (Deputy University Librarian) จำนวน 4 ฝ่าย ได้แก่  1) Administrative Services 2) Library IT and Technical Services 3) Collections and Research Services 4) Education Services and Learning Innovation และหัวหน้างาน (Head of Department) จำนวน 8 งาน

Screen Shot 2562-09-07 at 09.54.17.png

  • มหาวิทยาลัย SMU ห้องสมุดมีเพียง 2 แห่ง คือ Li Ka Ching Library (ตั้งชื่อตาม ลีกาชิง มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ผู้บริจาคเงินสร้างห้องสมุด) และ ​Kwa Geok Choo Law Library (ตั้งตามชื่อของกวาก๊อกชู ทนายความซึ่งเป็นภรรยาของลีกวนยิว และมารดาของลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรี) บุคลากรมีจำนวนเพียง 39 คน เป็นบรรณารักษ์วิชาชีพ 21 คน แต่สามารถบริหารจัดการห้องสมุดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัยมาก โครงสร้างองค์กรประกอบด้วย ผู้อำนวยการหอสมุด (University Librarian) และ Manager จำนวน 7 ฝ่าย ได้แก่  1) Learning and Information Services (พร้อมทีม Research Librarians ที่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ คอยให้บริการภายในห้องสมุด) 2) Information Access and Resources (มีทีม Library Specialists ดำเนินการในเรื่องของ Electronic Resources, Copyright, Licensing and Subscriptions ) 3) Library Technology and Innovation 4) Library Analytics (วิเคราะห์ข้อมูลสถิติ) 5) Scholarly Communication (สนับสนุนวงจรการวิจัย Research Cycle รวมทั้งเรื่อง Open Access) 6) Arts Management (จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ) และ 7) Corporate Services (บริหารงานทั่วไปและสื่อสารองค์กร)

Screen Shot 2562-09-07 at 10.30.56

  • มหาวิทยาลัย  HKUST ห้องสมุดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Associate Provost in Teachning and Learning  ผู้บริหารห้องสมุดคือ  Director of Library Services และรองผู้อำนวยการ Deputy University Librarian จำนวน 1 คน บุคลากรมีจำนวนทั้งสิ้น  90 คน ประกอบด้วย บรรณารักษ์วิชาชีพ 25 คน บุคลากรสนับสนุนอื่นๆ  65 คน ระบบห้องสมุดอัตโนมัติใช้ Primo (discovery service) และ Alma (cataloging module) ของบริษัท ExLibris โครงสร้างของห้องสมุดมหาวิทยาลัย UKUST  แบ่งออกเป็น 6 งาน ได้แก่ 1) Access Services (บริการห้องสมุดและบริการพื้นที่ Learning & Information Commons) 2) Resource Management (จัดหาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภท) 3) Research Support Services (บริการ Citation Services และบริหารจัดการข้อมูลวิจัย Research Data Management) 4) Information Literacy and Collection Services (บริการช่วยค้นคว้าสารสนเทศ โดย Subject Librarians ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ) 5) System and Digital Services​ (ครอบคลุมในเรื่องของ Archives และ ​Special Collection) 6) Administrative Services (งานบริหารทั่วไป) ซึ่งแต่ละงานจะประกอบด้วยหน่วยย่อย และมีหัวหน้างาน/หัวหน้าหน่วยกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม นอกจากการแบ่งงานตาม Departmental แล้ว ยังมีการจัดโครงสร้างให้เหมาะตาม Functional ด้วย โดยจัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ เพื่อทำงานร่วมกันข้ามสายงาน ได้แก่ Collection Development Committee, Information Service Committee, Facility Committee (Space Design), Scholarly Communication Committee, Access Service Committee, Web Committee, Library Administrative Committee เป็นต้น รวมทั้งมอบหมายงานรองให้แก่บุคลากรที่ไม่ได้มีงานหลักดังกล่าว แต่มีทักษะความสามารถพิเศษ อาทิ ด้านการออกแบบ ถ่ายภาพ และทำสื่อ เป็นต้น

Screen Shot 2562-09-07 at 07.25.36

ข้อสังเกตคือ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยในฮ่องกงและสิงคโปร์ มีจำนวนบุคลากรไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพสูง โดยวัดจากสถิติผลการดำเนินงานและผลการดำเนินด้านต่าง ๆ ของห้องสมุด ปัจจุบันคำที่ใช้เรียกชื่อฝ่าย/งานต่าง ๆ ของห้องสมุด มีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมกับภารกิจด้านการสนับสนุนการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยได้ชัดเจนและมีความทันสมัยมากขึ้น อาทิ งานด้านการจัดหาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ใช้คำว่า Information Systems & Resources หรือ Resource Management แทนคำว่า Technical Services เป็นต้น

การเรียกชื่อตำแหน่งผู้บริหารอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น อธิการบดี (President, Rector, Chancellor) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย) (Vice President for Academic Affairs and Research, Pro Chancellor หรือ Provost) รองอธิการบดีฝ่ายอื่น ๆ (Vice President หรือ Vice Chancellor) ผู้ช่วยอธิการบดี (Deputy Vice Chancellor, Deputy Vice President, Associate Provost, Associate Vice President) ผู้ช่วยรองอธิการบดี Assistants Vice Chancellor

ผู้บริหารห้องสมุด อาจใช้คำว่า Director of Library Services, Dean of Library  หรือ  University Librarian เป็นต้น

 

 

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 5)

ถานที่แห่งที่ 5 : SUTD (Singapore University of Technology and Design)

วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2559 ได้ติดตามคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาดูงานด้าน Entrepreneurship and Innovation Ecosystems ที่ประเทศสิงคโปร์ วันแรก ได้ไปดูงาน 3 แห่ง คือ 1) NTUitive Pte Ltd.  2) A*STAR ETPL  และ 3) ACSEP, NUS Business School สำหรับวันที่สอง ดูงาน 2 แห่ง คือ NUS Enterprise และ SUTD (Singapore University of Technology and Design) มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม การดูงานในครั้งนี้ ไม่ได้มีโอกาสไป IP intermediary (IPI Singapore) เนื่องจาก สถานที่ค่อนข้างคับแคบไม่สามารถรับรองคณะผู้ดูงานได้ทั้งหมด ดังนั้น คณะดูงานกลุ่ม BUS2 จึงได้นั่งรถรอบสิงคโปร์ sight seeing ฆ่าเวลาไปพลางๆ ก่อน ในระหว่างที่รอเวลาที่กลุ่ม BUS1 เสร็จจากการดูงานที่  IPI จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัย SUTD

เมื่อเดินทางไปถึง SUTD (Singapore University of Technology and Design) อธิการบดีมหาวิทยาลัย Prof. Thomas Magnanti  ได้มากล่าวต้อนรับ พร้อมแนะนำมหาวิทยาลัย

STUD เป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ล่าสุดของสิงคโปร์ ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย  MIT  หลักสูตรและการวิจัยด้านการออกแบบ (design) เป็น multi-disciplinary มี 4 เสาหลัก ตามความต้องการของตลาดแรงงานในโลกแห่งอนาคต ได้แก่  1) Engineering Product Development  2)  Engineering System Design 3)  Information Systems Technology Design 4)  Architecture and Sustainable Design

stud.jpg

แนวทางผลิตบัณฑิตสร้างความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยใช้หลัก Q not Q (Quality not Quantity)  กระตุ้นให้นักศึกษา go beyond the book knowledge, to apply it to solving problems และ “Make a difference to the world”  STUD ไม่ได้สอนตามหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยศาสตร์เหมือนที่อื่น แต่มุ่งเน้นไปยัง 3 เรื่อง คือ “Product” “System” และ “Design”  ไม่สอนให้ลงลึกและแคบอย่างเดียว และไม่ใช้วิธี inside-out approach แต่สอนให้มองกว้าง แบบองค์รวมก่อน แล้วจึงค่อยลงลึก โดยใช้ outside-in approach

STUD.jpg

นักศึกษาปริญญาตรีเรียนจบภายใน 3 ปี อัตราส่วนนักศึกษาต่ออาจารย์ คือ 11:1  ห้องเรียนมีอุปกรณ์ครบครันสำหรับการเรียนแบบ active learning โต๊ะเก้าอี้ติดล้อทุกตัวเพื่อปรับย้ายได้ มีเครื่องฉาย projector พร้อมจอ 7 ชุด ปลั๊กไฟพร้อมเสียบอุปกรณ์ และมี 3D printer ทุกห้องเรียน

ได้มีโอกาสแวะไปชมห้องสมุดของ STUD ด้วย ที่นี่เน้นทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก มีฐานข้อมูลทางวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศกรรมศาสตร์ และการออกแบบ ทุกชนิด แต่ยังคงนิยมใช้ตัวเล่มหนังสือที่เป็น core textbooks มีอุปกรณ์ ipad  และ kindle ให้นักศึกษายืม และจัดพื้นที่ภายในห้องสมุดแบบ learning space

การดูงานด้าน Entrepreneurship and Innovation Ecosystems ในครั้งนี้ ทำให้เห็นแนวโน้มและทิศทางของการศึกษาและการวิจัยประเทศสิงคโปร์ได้อย่างชัดเจน มหาวิทยาลัยหลักของประเทศสิงคโปร์ อย่าง NUS, NTU และ STUD กำลังพากันมุ่งหน้าไปสู่ความเป็น  Entrepreneurship โดยจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ของอาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร เพื่อให้การศึกษาและการวิจัยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในแก้ปัญหาของประเทศ และของโลกได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยมหิดลของเรา กำลังมุ่งเป้าไปทางทิศทางนี้เช่นกัน เป็นการเดินทางตามรอยคำสอนของสมเด็จพระราชบิดา และตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย คือ  “True Success is not in the Learning, but in its application to the benefit of mankind.” ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ 

ผู้สนใจติดตามอ่านบันทึกการศึกษาดูงาน ครบทั้ง 5 ตอน ขอเชิญคลิกที่  Link ต่อไปนี้ค่ะ

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 1) http://wp.me/p9hp9-1SA

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 2) http://wp.me/p9hp9-1Vl

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 3) http://wp.me/p9hp9-1WI

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 4) http://wp.me/p9hp9-1Xz

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 5) http://wp.me/p9hp9-1ZR

ประมวลภาพบรรยากาศของคณะดูงาน  (.m4v) http://bit.ly/2f5auuv

ประมวลภาพบรรยากาศของคณะดูงาน (.mp4) http://bit.ly/2g2GpjS

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 4)

ถานที่แห่งที่ 4 : NUS Enterprise – มหาวิทยาลัย National University of Singapore

วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2559 ได้ติดตามคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาดูงานด้าน Entrepreneurship and Innovation Ecosystems ที่ประเทศสิงคโปร์ วันแรก ได้ไปดูงาน 3 แห่ง คือ 1) NTUitive Pte Ltd.  2) A*STAR ETPL  และ 3) ACSEP, NUS Business School สำหรับวันที่สอง สถานที่แรกที่จะได้ดูงาน คือ NUS Enterprise มหาวิทยาลัย National University of Singapore

Screen Shot 2559-11-12 at 5.05.32 PM.png

Prof. Poh Kham WONG ผู้อำนวยการ NUS Entrepreneurship Centre ให้การต้อนรับ และนำชมสถานที่โดยรอบ เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันในลักษณะของ co-working space ที่เรียกว่า “The HANGER”

THE HANGER by NUS Enterprise … Where the entrepreneurial journeys take flight.

ยอมรับว่า เป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้จริงๆ ผู้คนที่นี่เป็นนักวิจัยและผู้ประกอบการเข้ามาสนทนาพูดคุยกัน มีร้านกาแฟ มีห้องประชุมสัมมนากลุ่มย่อย สังเกตเห็นได้ชัดว่า คนที่มาทำงานในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่าง NUS ล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถ หลายคนเป็นนักวิจัยที่เดินทางมาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และได้รับการชักชวนให้มาทำงานที่สิงคโปร์ โดยได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนสูง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และที่สำคัญคือเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูง

NUS Enterprise มีภารกิจดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1) Generating Pipelines : เพิ่มมิติด้านความเป็นผู้ประกอบการเข้าไปตลอดเส้นทางการเรียนการสอนและการวิจัย ของอาจารย์ นักศึกษา รวมทั้งศิษย์เก่า  2) Supporting Start-ups : สร้างบรรยากาศที่จะฟูมฟักคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการทางความคิดแบบผู้ประกอบการ และทำธุรกิจได้ 3) Cultivating Innovation : จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อส่งเสริมการเกิดนวัตกรรมและ entrepreneurship เช่น การจัดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรม  InnovFest UnBound  การจัดงานประกวด  DBS-NUS Social Venture Challenge Asia  การจัดตั้ง Industry Liaison Office เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจ การจัดทำพื้นที่  incubation space ทั้งแบบที่เป็น on campus (The HANGER) และ off campus (BLK71) เป็นต้น

BLK71  (Block 71) เป็น coworking, events and community space ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จากเดิมเป็นตึกโรงงานเก่าๆ ได้นำมาแปรสภาพ ทำเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ ปัจจุบันมีบริษัท start-up เข้ามาตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก

 

 

 

 

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 3)

ถานที่แห่งที่ 3 : Asia Centre for Social Entrepreneurship & Philanthropy (ACSEP), NUS Business School

วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2559 ได้ติดตามคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาดูงานด้าน Entrepreneurship and Innovation Ecosystems ที่ประเทศสิงคโปร์ สถานที่แห่งแรกที่ได้ไปดูงานคือ NTUitive Pte Ltd.  สถานที่แห่งที่ 2 คือ A*STAR ETPL  ส่วนสถานที่แห่งที่ 3 คือ ACSEP, NUS Business School

เมื่อเดินทางไปถึง NUS Business School คณะผู้บริหารของสถาบันพากันมาต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่นมาก คณาจารย์ของที่นั่นเป็นคนเก่งที่มาจากหลากหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ยุโรป อเมริกา และมีอาจารย์คนไทยด้วย และหลังจากที่ Vice Dean ได้กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรและงานวิจัยของที่นี่แล้ว Dr. Weina Zhang, Research Director ของโครงการ  ACSEP ได้มาเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ของสถาบันให้พวกเราฟัง

Screen Shot 2559-11-12 at 4.41.15 PM.png

วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นกิจการที่ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นหลักเหมือนธุรกิจทั่วไป แต่เป็นการประกอบกิจการเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและเพื่อความยั่งยืนของสังคมชุมชน  โครงการ ACSEP  จัดประชุมวิชาการ  International Symposium on Social Entrepreneurship เป็นประจำทุกปี มีทุนวิจัยให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทออกไปทำวิจัยและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทางด้านวิสาหกิจเพื่อสังคมและองค์กรการกุศลจากทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

screen-shot-2559-11-12-at-4-14-50-pm

งานวิจัยที่นี่ ทำอย่างจริงจังมาก เมื่อปี 2016 ได้เคยสำรวจความคิดเห็นของชาวสิงคโปร์ทั้งประเทศ ถึงความรับรู้และความเข้าใจ คำว่า Social Enterprise ในลักษณะของ Public Perception Survey ผลปรากฎว่าชาวสิงคโปร์ยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายของวิสาหกิจเพื่อสังคมว่าคืออะไรสักเท่าไหร่  นอกจากนั้น เมื่อปี 2015 เคยไปจัด workshop ที่กรุงเทพมหานคร เรื่อง Social Impact Assessment ให้กับสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) หรือ Thai Social Enterprise Office (TSEO)  ซึ่งทำงานภายใต้แผนงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เพิ่งทราบข่าวว่า สกส. ได้ปิดสำนักงานไปแล้วเนื่องจากสิ้นสุดงบประมาณ และรอให้พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ประกาศใช้  (ปัจจุบันราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการยกเว้นภาษี “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ประกาศแล้ว ที่เว็บไซต์ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/A/076/13.PDF)

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 2)

ถานที่แห่งที่ 2 : บริษัท Exploit Technologies Pte Ltd. (ETPL), Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) 

วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2559 ได้ติดตามคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาดูงานด้าน Entrepreneurship and Innovation Ecosystems ที่ประเทศสิงคโปร์ สถานที่แห่งแรกที่ได้ไปดูงานคือ NTUitive Pte Ltd.  ส่วนสถานที่ที่ 2 คือ A*STAR ETPL ซึ่งตั้งอยู่บนตึก ในย่าน research and development complex ของประเทศสิงคโปร์ ที่เรียกว่า Fusionopolis

CEO ของ A*STAR ETPL ได้มากล่าวต้อนรับ และแนะนำข้อมูลเบื้องต้นของประเทศสิงคโปร์ ทำให้เรารู้ว่า ประเทศนี้มีประชากรแค่ 5.5 ล้านคน พื้นที่ขนาดเพียงแค่ 718 ตารางกิโลเมตร แต่อัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชากร สูงถึง 96.7%

สิงคโปร์มีนโยบายสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือที่เรียกว่า RIE (Research, Innovation and Enterprise) และตั้งเป้าในปี 2020 หรือ RIE2020 โดยสนใจเทคโนโลยี 4 เสาหลัก  คือ 1) Advanced Manufacturing and Engineering (AME) 2) Health and Biomedical Sciences (HBMS) 3) Services and digital Economy (SDE) และ 4) Urban Solutions and Sustainability (USS) ซึ่งเป็นการจัดการผังเมืองและพื้นที่ใช้สอยเพื่อความยั่งยืนของประเทศสิงคโปร์

Screen Shot 2559-11-12 at 3.19.55 PM.png

A*STAR  หรือ  Agency for Science, Technology and Research ทำหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัท  ETPL ทำหน้าที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชน  ตามสโลแกนที่ว่า “From Mind To Market” ที่ A*STAR  มีบุคลากรจำนวนมากกว่า 5,400 คน ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัย วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ จำนวนกว่า 60 ประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการศึกษาในลักษณะของ A*STAR Graduate Academy (A*GA) อีกด้วย วันที่ไปดูงาน ภายในตึกมีการออกบูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกันอย่างมากมายคึกคักเลยทีเดียว

ถ้าเทียบกับบ้านเรา หน่วยงานที่ทำงานคล้ายๆ A*STAR ETPL น่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช  แต่ถ้าดูจากระบบนิเวศของการวิจัยประเทศสิงคโปร์ ตามสไลด์แผ่นนี้แล้ว จะเห็นว่า เขาทำอย่างเป็นระบบครบทั้งประเทศจริงๆค่ะ

ASTAR.jpg

ไปดูงาน Entrepreneurship ที่สิงคโปร์ (ตอน 1)

วันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2559 ได้ติดตามคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ไปศึกษาดูงานด้าน Entrepreneurship and Innovation Ecosystems ที่ประเทศสิงคโปร์ การไปครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นบรรยากาศของจริง และได้แนวคิดจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เพื่อนำมาปรับใช้กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แต่ที่สำคัญคือ ปรับวิธีคิดของตนเอง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต คณะผู้ดูงาน ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้ง อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการ จากคณะสถาบันต่างๆ ที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา เนื่องจากเวลามีจำกัด สถานที่ดูงานมีมาก จึงจำเป็นต้องแยกย้ายไปดูงานเป็นกลุ่ม ดังนั้น การรับรู้ มุมมอง สิ่งที่เห็น และแนวคิดอาจแตกต่างกัน บันทึกนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งมีพื้นฐานด้าน Entrepreneurship น้อยกว่าเพื่อน อาจจดจำความรู้กลับมาได้เพียงบางส่วน แต่ยินดีที่จะแบ่งปันค่ะ

สถานที่แห่งที่ 1 : NTUitive Pte Ltd.  อาคาร Innovation Center มหาวิทยาลัย Nanyang Technological University 

Screen Shot 2559-11-12 at 12.02.57 PM.png

ภาพที่ 1 : ไปยืนถ่ายภาพที่หน้า THEATRE @The NEST หนึ่งในบรรยากาศสร้างเสริมระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ที่นี่มีกิจกรรมมากมายหลายอย่างที่ช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น Pitchstop Cafe,  Lunch Movie Series, กิจกรรม MakanNight และการจัดงาน Hack-a-thons เป็นต้น

คณะผู้ดูงานได้รับฟังบรรยายจาก CEO ของบริษัท NTUitive และการนำเสนอประสบการณ์ของ CEO บริษัท NANOSUN ซึ่งประสบความสำเร็จในการใช้ nanofiber membrane จากกระบวนการ 3D printer ในการผลิต clean water & clean energy และบริษัท EndoMaster ที่ใช้มือหุ่นยนต์เข้าไปกำจัดก้อนมะเร็งในทางเดินอาหารโดยไม่ต้องผ่าตัด สังเกตวิธีการนำเสนอแบบ pitching idea ของ CEO บริษัททั้ง 3 ท่าน ช่างเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความเชื่อมั่นต่อการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ฟังตื่นเต้นตามไปด้วย

บริษัท NTUitive เป็น business incubator ของมหาวิทยาลัย NTU ที่ประสบความสำเร็จมาก ที่นี่มีจำนวน license สิทธิเทคโนโลยี ประมาณ 82 รายการ มีบริษัท start-up ของนักศึกษา 25 บริษัท และบริษัท spin-off ของอาจารย์ มากถึง 12 บริษัท  มีรายวิชา entrepreneurship ให้นักศึกษาเลือกเรียน มีทุน  intership programme สำหรับนักศึกษาปี 1-3 ให้ออกไปหาประสบการณ์เป็นผู้ประกอบการ start up ในต่างประเทศ มีบรรยากาศสิ่งแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถดึงดูดให้มีคนเก่งมากๆ มารวมตัวกัน โดยเฉพาะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับแนวหน้าจากทั่วโลก มาทำงานให้ที่นี่แบบ full time  จึงคิดว่าน่าจะเป็นที่มาของความสำเร็จค่ะ

Screen Shot 2559-11-12 at 1.53.34 PM.png

ภาพที่ 2 : ตรงข้ามกับอาคาร Innovation Center เป็นสถานที่ตั้งของ NTU Learning Hub อาคารศูนย์เรียนรู้รูปทรงประหลาด เป็น learning space ข้างในเต็มไปด้วยห้อง box-like lecture rooms, tutorial rooms  ข้างบนมีห้องสมุด ข้างล่างมีห้องอาหาร ถือเป็น flagship building ของมหาวิทยาลัย