พิธีกรภาคภาษาอังกฤษ (English MC)

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2558 ไปเข้ารับการอบรม การใช้ภาษาอังกฤษสำหรับพิธีกร (รุ่นที่ 1) หลักสูตร 1 วัน ซึ่งเป็นโครงการบริการวิชาการของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (แต่จัดใช้สถานที่ของคณะทันตแพทยศาสตร์) อาจารย์ผู้สอน คือ ดร. จิรสิริ เกษมสินธุ์ วิเวกเมธากร ได้เกร็ดความรู้มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้ค่ะ

เวลาพูดถึง พิธีกร (master of ceremony – MC) เรามักจะนึกถึง ผู้ทำหน้าที่ดำเนินรายการให้เป็นไปตามกำหนดการอย่างราบรื่น เป็นขั้นเป็นตอน แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างฉุกเฉินก็ต้องมีไหวพริบสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เป็นผู้มีเทคนิคในการนำเสนอตามแบบฉบับของตนเอง เป็นตัวของตัวเอง สามารถพูดในที่ชุมชนด้วยน้ำเสียง ท่วงท่าและภาษากาย (gesture) ที่ดีและถูกกาลเทศะ เช่น ถ้าเป็นงานเยาวชนอาจมีเล่นมุก ใช้ energy เยอะ แต่ถ้าเป็นงานพิธีหรืองานประชุมวิชาการอาจต้องเรียบๆ แต่เน้นการรักษาเวลา ใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง (accuracy) และคล่องแคล่วไม่ติดขัด (fluency) พูดได้ทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องมีสำเนียงพูดแบบ native speaker ไม่จำเป็นต้องถึงกับเสื้อผ้าหน้าผม  Grooming (เพราะถ้ามากเกินไปจะลดความคล่องตัวในการแก้ปัญหา) แต่ต้องรู้จักการใช้ระบบเสียง (sound system) สามารถดำเนินรายการตามลำดับขั้นตอน (moves) ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น ยังต้องไวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วย

บางครั้งถ้าเป็นพิธีกรคู่ ต้องแบ่งลำดับ (moves) ตามความถนัดของแต่ละคน หรือถ้าทำงานร่วมกับพิธีกรภาคภาษาไทย อย่าแปลตรงๆ แต่อาจใช้วิธีให้ข้อมูลหรืออธิบายให้ผู้ฟังต่างชาติเข้าใจวัฒนธรรมนั้นๆ ล่วงหน้าก่อน ส่วนหน้าเวทีให้พูดเสริมพิธีกรภาษาไทยเฉพาะที่สำคัญๆ การอ่านชื่อชาวต่างชาติ ให้ถาม How to pronounce your name แต่ถ้าไม่สามารถออกเสียงได้ถูกต้อง ให้เปลี่ยนมาอ่านโดยใช้ระบบภาษาอังกฤษแทน

MOVES ไม่ใช่กำหนดการหรือตารางงาน แต่เป็นลำดับของเนื้อหา หรือลำดับของคำกล่าวที่พิธีกรจะสื่อสารออกไป

องค์ประกอบหลักของการสื่อสาร ที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่

  1. Message (เนื้อหา ข้อความที่ต้องการจะสื่อ)
  2. Audience (ผู้ฟัง)
  3. Situation (สถานการณ์ขณะนั้น)
  4. Delivery (เทคนิคในการนำเสนอ หรือส่งสารออกไป)

Audience & Situation

ต้องสำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน (basic information) รอบๆ ตัว ตารางงาน วิเคราะห์ผู้ฟัง และวิเคราะห์สถานการณ์ ไม่เพียงแต่วิเคราะห์ว่า งานนี้เป็นแบบทางการ หรือไม่เป็นทางการเท่านั้น แต่ต้องวิเคราะห์ทั้ง who what when where why และต้องคำนึงถึงเรื่องของวัฒนธรรมด้วย จากนั้น จึงส่งสารออกไป ที่สำคัญต้องมีความชัดเจน (clear) เกี่ยวข้องตรงประเด็น (relevant)  มีความสอดคล้อง (coherent) และมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงได้อย่างราบรื่น (connectedness) ไม่ใช่พูดไปคนละเรื่อง

พิธีกรจะต้องวิเคราะห์ผู้คนที่เกี่ยวข้อง  (analysis of people) และระบุลำดับขั้นตอน (identify moves / setups) ของสถานการณ์นั้น

คนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ (organizing committee) ผู้สนับสนุนการจัดงาน (sponsor) ผู้ช่วยหน้างาน ดูแลอุปกรณ์โสตฯ หรือคอยประกบบุคคลสำคัญ (helpers / on-site assistant) ผู้ฟังแบบ invited audience เช่น แขกผู้มีเกียรติ (distinguished guests) วิทยากรรับเชิญ (invited speakers) ผู้ฟังแบบ motivated audience เช่น ผู้นำเสนอ (presenters) และผู้เข้าร่วมงาน (attendants/participants) ซึ่งต้องแยกแยะว่าเป็นบุคคลกลุ่มใด ระดับใด และวิชาชีพอะไรบ้าง

พิธีกรต้องวิเคราะห์ผู้ฟัง (collect the stories) ว่า เป็นใคร อายุ เพศ อาชีพ ฯลฯ อารมณ์และความรู้สึกขณะนั้น ทั้งวันผู้ฟังเจออะไรมาบ้าง ใช้เวลากับผู้ฟังให้นานขึ้น เปิดใจไปหาเขา เวลาพูดใส่ความรู้สึกของเราไปด้วย จะทำให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น

ใครบ้างที่เป็นตัวยืน (รอฟังคิวหรือการส่งสัญญาณจากเรา) ใครบ้างที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ใครบ้างที่เป็นคนสำคัญและต้องการให้เรากล่าวแนะนำหรือกล่าวขอบคุณต่อสาธารณะ How may their degree of involvement affect the flow and the energy of the situation. เนื่องจากพลังงานแต่ละคน ไม่เท่ากัน

รู้ว่าสถานที่จัดงานเป็นแบบใด ห้องใหญ่หรือห้องเล็ก (ถ้าสถานที่กลางแจ้ง อาจต้องใช้ภาษากายช่วย) ห้องอาหารอยู่ที่ไหน เวลาเปิด-ปิด รวมทั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

พิธีกรที่ดีจะต้อง

  1. Identify “organization” or “moves” of the situation เช่น เลยเวลาแล้ว ประธานยังมาไม่ถึง จะแก้ปัญหาหน้างานอย่างไร
  2. Engage the audience, energizng the event พูดให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม เกิดความกระตือรืนร้นและตื่นตัวมีพลัง ​
  3. Understand the flow and energy of the situation/event พิธีกรต้องมีความเข้าใจการลื่นไหลและพลังงานที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์
  4. Employ a variety of tone เลือกใช้น้ำเสียงที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม ในแต่ละสถานการณ์

Message & Delivery

พิธีกรต้องวิเคราะห์เนื้อหาของข้อความที่จะสื่อ ว่าเป็น routines หรือ parts of the moves หรือไม่ ถ้ามีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน (urgent matter) แทรกเข้ามาต้องประกาศ อาจต้องใช้วิธีพูดประกาศซ้ำหลายๆ รอบ หรือแค่เลือกเวลาที่เหมาะสมและประกาศเตือนครั้งเดียว ส่วนบางเรื่องจำเป็นแต่ไม่เร่งด่วน (essential but not urgent) อาจไม่ต้องประกาศก็ได้ เพียงแต่แก้ไขใน move ของเราก็พอ

เมื่อได้รับข้อความแจ้งจากผู้จัดงานว่า ขณะนี้มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น หรือตารางงานไม่เป็นไปตามกำหนด หรือเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น ขณะนี้อาหารยังไม่พร้อม พิธีกรจะต้องเตรียมบทพูด (acts inside messages) ที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ หรือประวิงเวลาไปก่อน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น กล่าวต้อนรับ ประกาศ ร้องขอ เชิญชวนให้ผู้ฟังถามคำถาม เชิญถ่ายภาพหมู่ ขอบคุณ ยกย่องชื่นชม แนะนำบูธหรือสถานที่ให้เดินชม แนะนำ sponsor หรือกล่าวขอโทษ  ฯลฯ ไม่พูดอะไรในแง่ที่ไม่ดี — แล้วค่อยๆ ดูปฏิกิริยาของผู้ฟัง น้ำเสียง (tone)  ที่ใช้อาจเป็นแบบราบเรียบ (neutral) หรือใช้น้ำเสียงที่สร้างความมั่นใจเพื่อทำให้คนฟังที่กำลังประหม่ารู้สึกดีขึ้น (assuring) หรือเน้นเสียง ใช้นำ้เสียงที่เด็ดขาดเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบของตัวพิธีกร (authoritative) ซึ่งฟังดูอาจเหมือนออกคำสั่ง (bossy)  แต่ที่จริงไม่ใช่ นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเรา take our job seriously!

ตัวอย่างการ ALERT ผู้ฟังในกรณีที่ได้รับแจ้งเหตุการณ์บางอย่างจากผู้จัดงาน

Ladies and gentlemen, could I have your attention, please. The dining room / lunch area has been changed to Sukhothai room, the second floor next to the swimming pool. <ย้ำ> May I please remind you again (Could I remind you all again that). Lunch is served at Sukhothai room, not Sukosol room, and Sukhothai room is at the second floor next to the swimming pool. Thank you.

Just a quick announcement / Sorry to announce, just a quick note here. The elevator is not working. Please use the stairs to the dinning room. <กล่าวซ้ำ>

I have an important announcement to make. Prof. … will be doing video conferencing (in the room ….) instead of live lecture. But the schedule remains the same / but the time is not changed. <ซ้ำ>  May I remind you that ….

I’m terribly (very) sorry to interrupt …

ต้องพิจารณาว่า เรื่องใดควรกล่าวขอโทษ เรื่องใดไม่จำเป็น (เช่น วิทยากรมาสายเอง)

SORRY FOR THE INCONVENIENCE THIS MAY CAUSE.

Introduction & Thanking

เวลากล่าวเปิดงาน จะมี 4 moves (ลำดับ) ในการกล่าวแนะนำและกล่าวขอบคุณ ได้แก่

  1. พิธีกรแนะนำตัวเอง สวัสดีและกล่าวต้อนรับ (Greeting and Welcoming / Meet & Greet) พูดภาพรวมของงาน กล่าวสั้นๆ ว่าใครจะมาเปิดงาน
  2. แนะนำประธานจัดงาน หรือผู้ที่จะมากล่าวรายงาน (to brief the opening remark / to give a briefing of the conference) ประธานในพิธี หรือผู้ที่จะมากล่าวเปิดงาน  (opening address / opening speech)
  3. เชิญประธานเปิดงาน
  4. กล่าวขอบคุณ

การแนะนำตัวเองของพิธีกร ใช้ชื่อ-นามสกุล เท่านั้น ไม่ต้องใช้คำนำหน้าหรือบอกตำแหน่ง ยกเว้นยศทหารตำรวจ. (ซึ่งต้องแปล) แต่ฐานันดรศักดิ์ มจ. ม.ร.ว. มล. ท่านผู้หญิงอ่านเป็นคำไทยไปตรงๆ

Good morning ladies and gentlemen. My name is  …. This my great honour to be the MC. This is the 5th time for all of us to join ….. <who what when where>

I am the MC of today’s conference. / I am the master of ceremony for today’s event.

Your excellencies, distinguished guests, delegated, ladies and gentlemen, it is a great honour to welcome all of you to the third conference on  …

I would like to extend a warm welcome to you all.

การแนะนำแขกสำคัญ (VIP/ distinguished guests) แนะนำผู้บรรยายในห้องประชุมใหญ่ (plenary speakers) ให้เรียงยศและตำแหน่ง จากสูงมาต่ำ เช่น ​His/Her/Your Royal Highest, Your excellency/excellencies หากมีหลายคนให้แนะนำเฉพาะชื่อและสถานที่ทำงานแบบสั้นๆ ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยแนะนำประวัติของแต่ละรายโดยละเอียดในภายหลัง

อาจต้องถามก่อนว่า  Do you need a formal introduction?

เวลาพูดให้มองหน้าคนฟังด้วย อย่าทำตัวเหมือนเต่า (turtle) คือ ยื่นหัวออกจากกระดอง แล้วรีบหดกลับอย่างรวดเร็ว อย่าพูดเร็วด้วยความตื่นเต้น

มีการ  alert ผู้ฟัง เช่น  แนะนำการแสดงโชว์ศิลปวัฒนธรรม บอกให้ผู้ฟังทราบว่าต่อไปควรทำอะไร (tell the audiences what they have to do) เพื่อให้ผู้ฟังเตรียมพร้อม เช่น ปิดเสียงโทรศัพท์ ปรบมือดังๆ ทำท่าทาง ฯลฯ บอกบทด้วยคำง่ายๆ ในแต่ละช่วงรายการ เช่น Next .. , the second show is …, the third show is … and the last show is …

การกล่าวต้อนรับ หลังจากแนะนำเสร็จแล้ว  “It is a great honour to welcome delegates from the Ministry of Labor and Social Welfare”

Your excellencies, distinguished guests, delegates, ladies and gentlemen, please join me to welcome Prof. ….. 

การกล่าวนำเพื่อปรบมือต้อนรับ (welcoming applause) “Please join me in welcoming all of the speakers”

เวลากล่าวแนะนำวิทยากร  ไม่ว่าจะเป็นห้องใหญ่แบบ plenary hall หรือห้องประชุมย่อย  พิธีจะต้อง 1) เตรียมบทและจัดลำดับของเนื้อหาที่จะกล่าว (message – acts inside) 2) เตรียมผู้ฟัง (audience) ให้มีความพร้อมด้วยการ alert และ 3) ส่งสาร (delivery) ออกไป อย่างเหมาะสม ทั้งนำ้เสียง (tone) ความชัดเจน (clarity) และมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง (coherence)

ลำดับของบทพูด (acts inside message) สำหรับกล่าวแนะนำวิทยากร

Alerter + head act (introduce) + the person + a reminder of the event + expertise (speciality/specialty) + welcoming

ก่อนอื่น ต้อง alert ผู้ฟังเพื่อเตรียมความพร้อมและกล่าวแนะนำวิทยากร ตัวอย่างเช่น  It is now my great pleasure to introduce Prof <ชื่อวิทยากร>…. , the plenary speaker of the ….. <ชื่องานประชุม>. Prof … is the Chief Representative Officer of the ..<ตำแหน่ง>…. He is ….<ความชำนาญพิเศษ/ลักษณะเฉพาะตัว/ประสบการณ์การทำงานที่สำคัญ>. Please join me in welcoming Prof. ….

ไม่จำเป็นต้องอ่านประวัติวิทยากร (speaker’ credentials) ทั้งหมด ถ้าวิทยากรส่งประวัติ CV / biodata มาให้ค่อนข้างยาว ขอให้อ่านและจับประเด็นสำคัญ เลือกเฉพาะที่เด่นๆ เรียบเรียงใหม่และสรุปเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ก็พอ

เวลาพูด หั่นหรือแบ่งเป็นวลีเป็นช่วงๆ  (หลังคำบุพบท เช่น on … / from … ) และใส่อารมณ์เน้นเข้าไปด้วย

สำหรับวิทยากรที่ไม่โดดเด่นเรื่องวุฒิการศึกษา แต่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก

Ms. Erica Claire Freire has extensively experience in business development with high profile in both international and global levels. She has joined the World Economic Forum since 2003 and has been worked as the leaders of numerous initiatives. She is also the council member of United World Colleges.

กล่าวต้อนรับและเชิญขึ้นบนเวที

Ladies and gentlemen, please welcome all our featured speakers (invited speakers / guest speakers) and plenary speakers  to the stage.

ลำดับของบทพูด (acts inside message) แนะนำปราชญ์ชาวบ้าน/ผู้นำชุมชน/พระ

Milestone(s) + short bio + alerter + welcoming

ในกรณีที่ผู้กล่าวคำปราศรัย (keynote speaker) ไม่ได้มีประวัติวุฒิการศึกษาที่สำคัญ แต่มีประสบการณ์สูงหรือเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ จึงต้องกล่าวถึง จุดสำคัญหรือช่วงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต พร้อมประวัติสั้นๆ ตามด้วยการกล่าวต้อนรับอย่างยกย่องและ alert ให้ผู้กล่าวคำปราศรัยเตรียมขึ้นเวที  เช่น

We are most honoured to be here.

So I an most honoured, and I would be very grateful if you would help me welcome to the stage, my mentor and someone who I know is going to impact your life greatly. Ladies and gentlemen, <ชื่อวิทยากร>, the keynote speaker.

การกล่าวขอบคุณ (Thanking)

พิธีกรจำเป็นต้องกล่าวชื่นชม (compliments) และสรุปการบรรยายอย่างสั้นกระชับ (succinctly) ก่อนที่จะกล่าวขอบคุณวิทยากร

I apprecitated the speech you gave us.  / I appreciated your talk.

It is a terrific/ insightful presentation/talk. I believe your comments were exactly what the audience needed to hear.

I am very grateful you took your time out of your busy schedule to address our small special interest group / to give a lecture at the symposium.

On behalf of  … I would like to thank Professor … for his insightful speech

คำชื่นชมที่นิยมใช้บ่อย เช่น appreciate, stimulate, motivate, terrific (ดีทุกด้าน), insightful (เรียบๆ แต่เนื้อหาทรงพลัง),valuable information ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า informative ​(มีสาระ), the finest (งดงาม), wonderful, fruitful/prolific (ออกดอกออกผลอุดมสมบูรณ์), productive, sincere thank, heartfelt thank, special thank, inspirational speaker ฯลฯ

กล่าวขอบคุณ พร้อมเชิญชวนให้ปรบมือ และเชิญมอบของที่ระลึก

Ladies and gentlemen, please give a big round of applause to our speaker, <ชื่อวิทยากร>. 

And now may I invite (call upon) Mr/Madame President /Director to present our speaker with a token of appreciation. (หรือ จะใช้ว่า with a gift from Thailand / with a gift from our hearts ก็ได้)

อย่าลืมขอบคุณคณะผู้จัดงาน (Committee) และผู้สนับสนุน (Sponsors)

As we reach the end of our fruitful 3-day conference, heartfelt thanks go to the organizing committee and the sponsors < อ่านให้ครบ อย่าให้ตกหล่น>. Without them, the conference would not have been possible. See you all next year in <ชื่อเมืองและประเทศ>.

ถ้าเป็นการประชุมที่มีล่ามแปลภาษา (Interpreter ไม่ใช่ translator) ไม่จำเป็นต้องแนะนำล่ามในตอนต้น แต่ตอนจบต้องขอบคุณ — Thank you the interpreter.

PLEASE JOIN ME TO GIVE A BIG ROUND OF APPLAUSE TO EVERYONE.

 

33 thoughts on “พิธีกรภาคภาษาอังกฤษ (English MC)

  1. ขอบคุณค่ะ
    มีประโยชน์ค่ะ
    ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนไปใช้ต่อด้วยนะคะ

  2. เป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้ดีทั้งใช้เองและสอนนักเรียนครับ..ขอบคุณมากครับ

  3. ดีมากๆๆๆๆเลยค่ะ พอดีคุณครูที่โรงเรียนให้ไปลองเป็น MC ที่งานต่างๆที่เป้นงานเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ไม่รุ้จะพุดหรือทำอะไรก่อนอะไรหลัง พอเข้ามาในเว็บนี้ ได้ความรู้มากมายเลยค่ะ

  4. ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ หากมีการฝึกอบรมอีก อยากมีโอกาสเข้าอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้เกิดประโยชน์ค่ะ

  5. งาน MC เป็นงานที่ต้องละเอียด ใช้ไหวพริบ เทคนิค ในแต่ละงาน…ยิ่งเป็นภาษา ENg ยากค่ะ…ขอบคุณมากๆนะคะ เป็นประโยชน์มากค่ะ กำลังต้องการแนวทางเพื่อนำไปใช้งานเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ

  6. ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ เลยค่ะ ที่กรุณาให้ความรู้ และสอนได้ดีมากจริงๆค่ะ อยากพูดภาษาอังกฤษได้อย่างอาจารย์บ้างจัง … ไม่ทราบว่าสรุปถูกต้องหรือเปล่า คราวหน้าอยากเรียนอีก ขอให้จัดต่อเนื่องไปเรื่อยๆนะคะ เพราะเป็นหัวข้อที่คนสนใจมาก มีคนเข้ามา click like และ share ใน facebook เยอะเลยค่ะ 🙂

  7. ขอบพระคุณพี่รุจเรขามากค่ะ การสรุปนี้เป็นประโยชน์จริงๆ ใครเข้ามาอ่านก็ได้แนวคิดเพื่อไปสังเกตและเก็บเกี่ยวความรู้จากสถานที่จริงเพื่อเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ

ใส่ความเห็น