สังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand)

ประเทศไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) ด้วย ICT” เป็นวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556 ที่ NECTEC และกระทรวง ICT ร่วมกันจัดทำขึ้น อืมม .. แล้วสังคมอุดมปัญญาที่ว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร ?

สังคมอุดมปัญญา หรือ Knowledge-based Society หมายถึงสังคมที่มีการพัฒนาและใช้ ICT อย่างชาญฉลาด โดยใช้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความฉลาด (Smart) และรอบรู้สารสนเทศ (Information Literacy) สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน มีการบริหารจัดการ ICT ที่มีธรรมาภิบาล (Smart Governance) เพื่อสนับสนุุนการพัฒนาสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้และนวัตกรรม อย่างยั่งยืนและมั่นคง

สาธุ หวังว่าคงพยายามทำกันให้สำเร็จนะ มิฉะนั้นแล้ว ICT อาจกลายเป็นตัวทำลายสังคมโดยเฉพาะในหมู่เด็กวัยรุ่นของเราก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ มูลนิธิกระจกเงา เขาก็กลัวๆ กันอยู่

ICT-2020 Conceptual Framework

ลอง download มาอ่าน น่าสนใจมาก แนวคิดสำหรับการจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554-2563 ของประเทศไทย (ICT-2020 Conceptual Framework) ซึ่งกำลังจะกลายเป็นนโยบาย ICT ของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า เป็นนโยบายในระยะที่ 3 ถัดจาก ICT-2000 และ ICT-2010 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป และจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเราอย่างแน่นอน

ทิศทางของการพัฒนา ICT ของประเทศไทย คงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น

  1. ความเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ซึ่งจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน ได้เตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าจะมีผลกระทบในเชิงโครงสร้างของสังคมไทยอย่างแน่นอน เมื่อพวก สว. (สูงวัย) จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนวัยแรงงานจะมีสัดส่วนลดลง ดังนั้น ประเทศจะต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน ส่งเสริมการออม และพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราในฐานะ สว. ก็เลยต้องเตรียมการล่วงหน้า โดยการลงเรียนปริญญาเอกแบบทางไกล และเริ่มซื้อกองทุนรวม พันธบัตร ทำประกัน ฯลฯ)
  2. วิกฤตด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โลกร้อน ต้องประหยัดพลังงานในการเดินทาง และหันมา Work at Home โดยใช้ Telework / e-work แทน
  3. การกระจายอำนาจการปกครอง ใช้ ICT ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มากขึ้น
  4. การจ้างงานและตลาดแรงงานในอนาคต ประเทศเราแย่หน่อย ที่เศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรมมากที่สุด ในขณะที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ภาคการเกษตร และเกษตรที่หันมาทำงานในภาคบริการและอุตสาหกรรม ยังคงเป็นแรงงานไร้ฝีมือ .. แต่โชคยังดีที่เรามีความสามารถในภาคบริการไม่น้อยเหมือนกัน ต่อไปคงต้องหันมาสนใจภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) กันให้มากยิ่งขึ้น ในอนาคต ICT จะช่วยให้เยาวชนไทยรุ่น Post-modern หรือ Post-industrialization เข้าสู่ตลาดแรงงานในสาขาอาชีพที่แตกต่างไปจากอดีต เป็นแรงงานไร้สังกัด (Freelancing) กันมากขึ้น มีทักษะแบบบูรณาการ ทำได้หลายอาชีพ ว่างั้นเถอะ
  5. ผลกระทบจากอาเซียน (ASEAN Vision 2020) การรวมตัวของกลุ่มอาเซียนจะมีผลต่อ ICT ในหลายมิติ ทั้งเรื่อง e-government,e-commerce,e-society และ ICT Infrastructure
  6. ภาวะของสังคมแห่งการเรียนรู้ จากแรงกดดันของกระแสโลกาภิวัตน์ เกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วและมีอิทธิพลเกินกว่านโยบายและแผนงานของภาครัฐจะตามทัน ดังนั้นคงต้องมีการบูรณาการศาสตร์ต่างๆมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งเป็นการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา (Multidisciplinary / Interdisciplinary) และอีกหน่อยคนๆหนึ่งคงต้องเชี่ยวชาญหลายศาสตร์ (Transdisciplinary) ด้วย
  7. การปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 หลังจากรอบที่ 1 เมื่อปี 2542 ไม่สำเร็จ แถมยังทำให้จำนวนเด็กที่มีความสามารถและทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ลดลงไปอีก บัณฑิตมีความอ่อนแอเชิงคุณภาพลงอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ ดังนั้น ICT คงต้องมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมอีก ในเรื่องของการศึกษา
  8. ค่านิยมและความขัดแย้งต่างๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ ต่อไปในอนาคตยิ่งจะซับซ้อน เยาวชนใช้ ICT และบริโภคสื่อในทางลบ เสียเวลาไปโดยไม่เกิดผล คงต้องหาทางแก้ปัญหานี้ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในรอยต่อระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี (Man-machine interface) มองเทคโนโลยีในมิติทางด้านสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน