สมรรถนะของดุษฎีบัณฑิตสารสนเทศศาสตร์

สรปุประเด็นสมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ และเจตคติ) ของดุษฎีบัณฑิตสารสนเทศศาสตร์ จากงานเสวนา “สมรรถนะที่พึงประสงค์ของดุษฎีบัณฑิตสารสนเทศศาสตร์และความคาดหวังของผู้ใช้บัณฑิต” เมื่อวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 โดยมีดุษฎีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ (Information Science) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิาช และหลักสูตรสารสนเทศศึกษา (Information Studies) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 8 ท่าน มาร่วมเล่าประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สรุปประเด็นได้ดังนี้ค่ะ

สมรรถนะ (ความรู้ ทักษะ และเจตคติ) ของดุษฎีบัณฑิตสารสนเทศศาสตร์

  1. มีทักษะในการวิจัยและพัฒนา (R & D) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้
  2. เรียนรู้สิ่งใหม่และสร้างนวัตกรรม เพราะถ้าไม่มี จะตามโลกไม่ทัน
  3. มีความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของจริยธรรมการวิจัย เคารพศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัย
  4. มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในเรื่องผลงานและสื่อที่มีลิขสิทธิ์ และนำมาใช้งานอย่างถูกต้อง  
  5. ต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงจบปริญญาเอกแล้วหยุดเรียนรู้ เรียนแล้วต้องช่วยเหลือคนอื่น ทำประโยชน์ให้คนอื่น
  6. มีทักษะการเรียนรู้ทักษะใหม่
  7. เรียนรู้ศาสตร์ใหม่ อาทิ Big data, Machine Learning
  8. มีความสามารถในการบูรณาการข้ามศาสตร์
  9. ประยุกต์ใช้สารสนเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ ลดความยากจน ส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการให้แก่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน บริการสารสนเทศเพื่อการพัฒนาผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ (พฤตพลัง Active Ageing) ทั้งด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนสังคม และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิต
  10. มีทักษะในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกระดับ ทั้งความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ความร่วมมือระหว่างต่างประเทศ เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีทักษะด้านการใช้ภาษา
  11. สามารถทำงานได้ทั้งในภาควิชาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคอุตสาหกรรม
  12. ต้องมีทั้ง Hard skill, Soft skill, Re-skill, Up-skill และ Meta-skill mindset เพื่อเติบโต เรียนรู้ แก้ปัญหา และทัศนคติที่ดี เปลี่ยนความซับซ้อนให้เป็นความเรียบง่าย พัฒนาความรู้และทักษะใหม่อยู่เสมอ เพื่อเผชิญความท้าทายในโลกแห่ง VUCA World และสามารถ translate skills กลายเป็นที่ปรึกษาขององค์กร (Trainer, Coach, Consultant) ในด้านการจัดการข้อมูล
  13. มีความสามารถในการจัดการเรื่อง big data, data analytic ซึ่งเป็น pain point ของภาคธุรกิจ ขับเคลื่อนธุรกิจและการตลาดโดยใช้ข้อมูล (Data-driven business) เนื่องจากข้อมูลเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า เป็นภาษาที่สองของทุกคนในองค์กร การจัดการข้อมูลมีความสำคัญต่อความสำเร็จและเพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กร
  14. มีความสามารถในการบริหารเวลา จัดสรรเวลา มีวินัยในตนเอง มุ่งมั่น ตั้งใจ มีวินัย อดทน ไม่ท้อถอย
  15. สามารถบริหารจัดการความเครียด มีความเข้าใจในตัวเอง ตระหนักในคุณค่าของตนเอง  self-confidence and respect yourself
  16. มีทักษะการแก้ปัญหา เผชิญกับปัญหา คิดบวก (Positive Thinking) มี Growth Mindset
  17. มี Critical Thinking สามารถแยกแยะเรื่องราวบนพื้นฐานของความถูกต้อง
  18. มี Empathy ความรู้สึกร่วม เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น มี Compassion เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถเพิ่มบทบาทในการเป็น social support / emotional support หรือทำงานด้าน social listening รับฟังเสียงจากสังคม

หลักสูตรบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ของประเทศออสเตรเลีย

สรุปรายงานการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง Today Australia: Tomorrow the World! New Directions in Internationalisation for LIS Education, Research and Practice บรรยายโดย Dr.  Gillian Hallam, Adjunct Professor, Science and Engineering Faculty, Queensland University of Technology, Brisbane, Australia เมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เวลา 9:30-12:00 น. ณ ห้องประชุม 233 อาคารสัมมนา 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เนื้อหาของการบรรยายครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ (LIS) ในภาพรวมของประเทศออสเตรเลีย บทบาทของสมาคม Australian Library and Information Association (ALIA) ที่มีต่อการศึกษา การวิจัย และการปฏิบัติงานทางด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ทิศทางใหม่ๆ ของห้องสมุด หลักสูตรการศึกษา และสมาคมห้องสมุดในอนาคต ซึ่งจะเน้นความร่วมมือระดับนานาชาติเป็นหลัก และปิดท้ายด้วยการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของผู้บรรยายที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาวงการ LIS ของประเทศออสเตรเลียและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ห้องสมุดต่างๆ ในประเทศออสเตรเลีย ประกอบด้วย

  1. ความร่วมมือระหว่างกลุ่มห้องสมุดระดับชาติและระดับรัฐ จำนวน 8 แห่ง ของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ National and State Libraries Australasia (NSLA) http://www.nsla.org.au
  2. ห้องสมุดประชาชน จำนวน 1,620 แห่ง
  3. ห้องสมุดโรงเรียน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 9,300 แห่ง
  4. ห้องสมุดสถาบันการศึกษา ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวศึกษาประเภท TAFE (Technical and Further Education) จำนวน 430 แห่ง โดยมีสภาบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศออสเตรเลีย (Council of Australian University Librarians หรือ CAUL) เป็นองค์กรที่สำคัญสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย http://www.caul.edu.au
  5. ห้องสมุดเฉพาะ ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและบริษัทเอกชน จำนวน 2,200 แห่ง

กำลังคนด้าน LIS ในประเทศออสเตรเลีย

ประชากรทั้งหมดของประเทศออสเตรเลียมีจำนวนทั้งสิ้น 23 ล้านคน เป็นกำลังคนหรือแรงงานจริง จำนวน 10 ล้านคน สำหรับในภาคส่วนของ LIS มีคนทำงานในห้องสมุด 28,000 คน บรรณารักษ์ 13,000 คน เจ้าหน้าที่งานเทคนิคห้องสมุด 5,000 คน เจ้าหน้าที่งานบริการห้องสมุด 7,000 คน นักจดหมายเหตุ ภัณฑรักษ์ หรือนักวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 3,000 คน เมื่อดูอายุเฉลี่ยของอาชีพบรรณารักษ์ พบว่า จำนวนสูงสุดอยู่ในช่วง 45-54 ปี หรือมีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 47 ปี ในขณะเดียวกัน บรรณารักษ์ที่อายุน้อยมีจำนวนไม่มากนัก

การศึกษาในสาขาวิชา LIS ของประเทศออสเตรเลีย

การศึกษา LIS เริ่มต้นเมื่อปี 1944 ในรูปแบบการสอบประเมินผล ในปี 1960 ให้ประกาศนียบัตร ปี 1963 เริ่มมีสมาคมห้องสมุด Library Association of Australia (LAA) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Australian Library and Information Association (ALIA) และในปี 1965 เริ่มมีหลักสูตรระดับปริญญาตรี  ปัจจุบันหลักสูตรวิชาชีพในระดับมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี จำนวน 5 แห่ง และหลักสูตรหลังปริญญาตรี  จำนวน 10 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรระดับอาชีวศึกษาหรือที่เรียกว่า TAFE สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดด้วย

บทบาทของสมาคม Australian Library and Information Association (ALIA)

ALIA ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนวิชาชีพ LIS หาทุนเพื่อพัฒนาวิชาชีพ ดูแลมาตรฐานการศึกษา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาทางด้าน LIS หลักสูตรฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด หลักสูตรครูบรรณารักษ์ และทำกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือระดับนานาชาติ มีเว็บไซต์อยู่ที่ http://www.alia.org.au

ข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ http://joboutlook.gov.au  แสดงให้เห็นว่า อาชีพบรรณารักษ์ มีระดับการศึกษาหลังปริญญา (ปริญญาโทและประกาศนียบัตร) สูงสุด 43.0% รองลงมาคือปริญญาตรี 34.2% อาชีพเจ้าหน้าที่งานเทคนิคห้องสมุด (Library Technicians) มีระดับการศึกษาสูงสุด คือ อนุปริญญา 40.2% รองลงมาคือ ปริญญาตรี 16.6% ส่วนอาชีพเจ้าหน้าที่งานบริการห้องสมุด (Library Assistants) มีระดับการศึกษาสูงสุด คือ มัธยมศึกษา เกรด 12 (23.3%) เกรด 11 และเกรด 10 (22.7%) แต่มีบ้างที่มีวุฒิการศึกษาสูงกว่านั้น เนื่องจากต้องการงานทำ

ธรรมชาติของหลักสูตร LIS เป็นพหุวิทยาการ

เป็นการผสมผสานหลายสาขาวิชา เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดการ ศึกษาศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ และจิตวิทยา ซึ่งทำให้สาขาวิชา LIS มักไปรวมเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในคณะอื่นๆ เช่น คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะสื่อสารมวลชน คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ เป็นต้น ในกรณีของ Queensland Institute of Technology ได้นำหลักสูตร LIS ไปรวมอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

บทบาทของ ALIA เกี่ยวกับมาตรฐานหลักสูตรและการรับรองคุณภาพการศึกษา

เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินได้แก่ การออกแบบหลักสูตร เนื้อหาของหลักสูตร จำนวนอาจารย์ ทรัพยากร โครงสร้างพื้นฐาน ผลการประเมินของนักศึกษา และกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งรายชื่อหลักสูตรสำหรับบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศ หลักสูตรสำหรับครูบรรณารักษ์ และหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่งานเทคนิคห้องสมุด ที่ผ่านการรับรองแล้ว ได้แสดงไว้บนเว็บไซต์ของ ALIA ในหัวข้อ Accredited courses http://www.alia.org.au/employment-and-careers/accredited-courses

ในปี 2013 นี้จะมีการทบทวนเกณฑ์ใหม่ และจะเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูลแบบ paper-based มาเป็นออนไลน์ โดยใช้โปรแกรม Moodle ทิศทางใหม่ๆ สำหรับหลักสูตร LIS คือ เน้นในเรื่องของทักษะและสมรรถนะทางวิชาชีพ ความสามารถทั่วไปหรือ Soft Skills การเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพในระยะยาว การสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบัน และการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ALIA กำหนดความรู้หลัก ทักษะ และคุณลักษณะเฉพาะของบรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศ ในด้านต่างๆ เอาไว้ที่ http://www.alia.org.au/about-alia/policies-standards-and-guidelines/library-and-information-sector-core-knowledge-skills-and-attributes

ทิศทางใหม่ของการบริการห้องสมุด ได้เปลี่ยนแปลงจากในอดีต เริ่มจากการเป็นสถานที่เก็บรวบรวมทรัพยากร การให้บริการยืมคืนทรัพยากร การบริการระหว่างห้องสมุด การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ PC ภายในห้องสมุด  การเรียนรู้อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กลายมาเป็นสถานที่ในการพบปะของคนในชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะหรือ Learning Commons ในปัจจุบัน

ในปี 2012-2013 ผู้บรรยายได้มีส่วนร่วมในโครงการของ National and State Libraries Australasia (NSLA) ที่จะศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงห้องสมุดให้กลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้หรือ Learning Organisation ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจาก LO ในภาคธุรกิจ ซึ่งมุ่งเพิ่มผลกำไร แต่ LO ในกรณีห้องสมุดจะมุ่งเน้นการรู้สารสนเทศเพื่อช่วยเหลือสังคมและชุมชน

ทิศทางใหม่ของทรัพยากรห้องสมุด เปลี่ยนแปลงจากหนังสือที่เป็นตัวเล่ม ไปสู่หนังสือในรูปแบบ Kindle ในปี 2012 ผู้บรรยายได้มีส่วนร่วมในโครงการระดับชาติของ Council of Australian University Librarians (CAUL) ในโครงการนำหนังสือตำราอิเล็กทรอนิกส์ หรือ eTextBooks มาใช้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย

โครงการวิจัยที่เกี่ยวกับ LIS Education

เป็นการใช้วิธีวิจัยแบบชุมชนมีส่วนร่วม หรือ Community Based Participatory Research โดยเน้นศึกษาใน 3 ประเด็นคือ 1. นักศึกษาหลักสูตร LIS 2. กำลังคนหรือแรงงานในสาขา LIS และ 3. การศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการศึกษาต่อเนื่องในสาขา LIS

ข้อสังเกตที่ได้จากงานวิจัย คือ นักศึกษาสนใจที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้ จากการบอกเล่าปากต่อปากและการค้นจากเว็บไซต์  นักศึกษามีความพึงพอใจในเนื้อหารายวิชา วิธีการสอน และชอบการเรียนแบบเผชิญหน้ามากกว่าเรียนทางออนไลน์ ซึ่งควรปรับปรุงให้ interactive มากกว่านี้ เมื่อออกไปทำงานพบว่า ต้องเผชิญกับความท้าทายในสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างกัน ทักษะที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจากทักษะที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาโดยตรง มาเป็นทักษะทั่วไปหรือ soft skills มากขึ้น แต่มีความต้องการทักษะในการบริหารจัดการเนื้อหาสารสนเทศ เป็นพื้นฐานสำคัญ ในส่วนของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พบว่า โรงเรียนหรือภาควิชาต่างๆ มีการแข่งขันกันเองเพื่อแย่งนักศึกษาซึ่งมีจำนวนน้อยลง อาจารย์ผู้สอนลดลงและมีอายุมากขึ้น (มากกว่า 68% ของอาจารย์ทั้งหมด เป็นผู้มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี) หรือโดยเฉลี่ยมีอายุ 50 ปี อย่างไรก็ตาม 80% ของอาจารย์ผู้สอนมีความพึงพอใจในอาชีพการทำงาน

ประเด็นด้านความเป็นนานาชาติของการศึกษา LIS ในประเทศออสเตรเลีย

จุดสนใจของหลักสูตร LIS ในขณะนี้สนใจไปทาง iSchools ซึ่งเน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก และมีความกังวลในเรื่องต่างๆ เช่น การมุ่งเน้นงานวิจัยหรือการปฏิบัติงานจริง การขาดแคลนทฤษฎีหลักของสาขาวิชา และการเจือจางลงของหลักสูตร มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กรอย่างรวดเร็ว ทำให้หลักสูตรขาดความเป็นอิสระ ความสนใจในการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ยังขาดมาตรฐานของหลักสูตรที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก ข้อแนะนำคือ ให้ใช้คำศัพท์ที่ครอบคลุมอย่างกว้างๆ เช่น ใช้คำว่าสารสนเทศ แทนคำว่าห้องสมุด พยายามที่จะผลักดันให้เกิดความเลิศด้านการวิจัยมากขึ้น มีกลยุทธ์ในการสร้างความยั่งยืนของอาชีพผู้สอน ทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้เรียน พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้และการสอนที่มีคุณภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างอุดมศึกษากับการฝึกอบรมในระดับอาชีวศึกษา เป็นต้น

ประเทศออสเตรเลียใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่เรียกว่า Australian Qualifications Framework (AQF)

ทิศทางใหม่ของสมาคมห้องสมุด

เป็นช่วงเวลาแห่งการท้าทายของสมาคมห้องสมุด จำเป็นต้องเพิ่มความสนใจในเรื่องของผู้สนับสนุน หาทุนหรือรายได้ เพิ่มความสนใจในเรื่องขององค์ความรู้และทักษะ ในขณะที่จำนวนสมาชิกเริ่มลดน้อยลง ผู้ที่สนใจเข้ามาทำงานให้สมาคมแบบอาสาสมัครมีจำนวนลดลง จำเป็นต้องมุ่งเน้นในเรื่องของอนาคตให้มากขึ้น

บทสรุป

การศึกษาด้าน LIS ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของอาจารย์ผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว แต่ขึ้นกับผู้เรียน ผู้จ้างงาน และสมาคมวิชาชีพด้วย การศึกษาด้าน LIS จะต้องประสานเข้าด้วยกันกับการวิจัยและการปฎิบัติงานจริง การศึกษาด้าน LIS จะไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่จะต้องพัฒนาโดยเพิ่มมุมมองในระดับนานาชาติด้วย

ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ (4)

เขียนต่อจาก [ ตอนที่ 1 ] [ ตอนที่ 2 ] [ ตอนที่ 3 ]
สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ ที่ หลักสูตร Information Science ของ มสธ. จัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554

ในช่วงบ่ายเป็นการบรรยายเรื่อง การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานสารสนเทศ โดย ผศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีบริสุทธิ์สกุล ผศ.ดร.อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ และ รศ.ดร. ปัทมาพร เย็นบำรุง ได้ความรู้ที่น่าสนใจ พอจะสรุปได้ดังนี้

  • ผศ.ดร.สมศักดิ์ แนะนำ Top Technology Trends (1999-2006) ของ American Library Association (ALA) ที่เว็บไซต์ http://www.ala.org/ala/mgrps/divs/lita/professional/trends/index.cfm และ Library Technology Reports ที่เว็บไซต์ http://www.librarytechnology.org/librarytechnologyreports.pl
  • แนวโน้มงานวิจัยในปี 2009 เป็นเรื่องของ web services, service-oriented architecture (SOA) และ cloud computing
  • อาจารย์ได้แนะนำงานวิจัยของ Marchionini (2008) ซึ่งได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง information-centric คือให้สารสนเทศเป็นศูนย์กลาง หรือ human-information interaction (HII) โดยมีใจความสำคัญคือ 1) เปลี่ยนจากการศึกษาที่ตัวทรัพยากรสารสนเทศ ไปเป็นการศึกษาผู้ใช้และเทคโนโลยี ว่ามีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับสารสนเทศซึ่งมีพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 2) เปลี่ยนจากการมุ่งศึกษาพฤติกรรมรายบุคคล ไปเป็นการค้นหากระบวนการคิดเพื่ออธิบายกลุ่มคนบนโลกไซเบอร์ (cyber collective) 3) เปลี่ยนจากการศึกษาในประเด็นของการจัดการสารสนเทศเชิงกายภาพ ไปเป็นการจัดการสารสนเทศที่ไม่มีลักษณะตายตัว 4) เปลี่ยนจากการจัดการสารสนเทศ ไปเป็นการจัดการเอกลักษณ์ของผู้ใช้ (user profiles) สรุปคือ From “isolated technologies” to “holistic information systems”
  • การวิจัยเชิงปริมาณ ทดสอบความจริงแท้ แต่การวิจัยเชิงคุณภาพ ความจริงแท้ไม่มี ความจริงขึ้นกับบริบทและปัจเจก แต่หลายๆปัจเจก จะทำให้เห็น pattern อะไรบางอย่าง ปัจจุบันจึงหันมานิยมใช้การวิจัยแบบ mixed method เนื่องจาก digital objects มีความซับซ้อนกว่าที่คิด และสารสนเทศศาสตร์ต้องเปิดใจรับศาสตร์อื่นเข้ามา ทั้ง IT, cognitive science, psychology, mass psychology
  • ผศ.ดร.อัษฎาพร ได้พูดถึง Tracks ของงานวิจัยทางด้านไอที ทั้งในแง่ของ system and tecnology oriented เช่น system development, information visualization, data mining, text mining และในแง่ของ human and social oriented เช่น technology acceptance model (TAM), human-computer interaction (HCI), social network factors เป็นต้น
  • อาจารย์ได้ยกตัวอย่าง research topics ที่น่าสนใจหลายด้าน เช่น Collaborative technology, HCI, IT and business innovation, information resource management, IT investment, และ text mining (ซึ่งการหาความหมายของคำ จำเป็นต้องมีความรู้ทางภาษาศาสตร์ด้วย)
  • ตัวอย่างดุษฎีนิพนธ์ของภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Information Resource Management ซึ่งใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษาผู้ใช้ระบบ ERP คืองานวิจัยเรื่อง Linking user acceptance and user resistance: the role of attitude in enterprise resource planning implementation phase
  • อาจารย์เห็นว่า technology เป็นตัว drive ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยน ปัจจุบันคนมีความอดทนน้อยลงเวลาค้นหาข้อมูล และถ้าค้นไม่ได้ภายใน 3 นาที จะเลิกใช้ ไม่อดทน ในทางธุรกิจ งานวิจัยได้เปลี่ยนจาก data warehouse ซึ่งเป็นคลังข้อมูลพร้อมใช้ มาเป็น business intelligence system หรือระบบธุรกิจอัจฉริยะ ใส่ interface เข้าไปให้ใช้งานขึ้น ใช้งานได้เอง ต่อมาพัฒนาเป็น Corporate performance management (CPM) และ Technology acceptance model (TAM) เป็นแนวคิดแบบจำลองการยอมรับเทคโนโลยี มีการทำ survey สอบถามผู้ใช้ แต่โดยทั่วไปผู้ใช้มักจะมี learning curve คือ 1-2 ปีจะต่อต้าน อีก 2 ปีต่อมาจะเกิดความเคยชินในการใช้งาน การสำรวจจะไม่ใช่แค่ชอบ-ไม่ชอบ แต่จะสอบว่าใช้ระบบได้ดีขึ้นหรือไม่ อยู่ในระบบได้นานขึ้นหรือไม่ ได้ข้อมูลที่ต้องการหรือไม่ มีการใช้ social impact หรือ social network factor เข้ามาร่วมด้วย เช่น ให้ความสำคัญต่อ Influencer ซึ่ง followers มักจะทำตามหรือเลียนแบบ
  • ตัวอย่างที่เห็นชัดของสถาปัตยกรรมสารสนเทศ (information architecture) ในลักษณะ information visualization คือ แผนที่สถานีรถไฟกรุงโตเกียว
  • อาจารย์ได้แนะนำนักศึกษาปริญญาเอกว่า งานวิจัยจะต้อง theoretical contribution to knowledge ต้องใหม่ และปรับให้เข้ากับบริบทประเทศไทย ให้หาหัวข้อวิจัยจากงานที่ทำ เป็นปัญหาขององค์กรที่ทำงาน หรือหัวข้อที่สนใจ และขุดลึกลงไปเรื่อยๆ ต้องอดทน อย่าเปลี่ยนเรื่องไปมา ต้องสะสมความรู้ค่อนข้างเยอะ การเรียน course work ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญกว่าคือต้องหาหัวข้อวิจัยให้เจอ มีใครทำหรือยัง ถ้ามีแล้วมันไม่ดีตรงไหน พอได้ขอบเขตของหัวเรื่องแล้ว ค่อยหา topic ที่เหมาะสมภายหลัง
  • รศ.ดร. ปัทมาพร ได้แนะนำตัวอย่างดุษฎีนิพนธ์ของต่างประเทศ ในหัวข้อเกี่ยวกับ Digital libraries, information behaviors, information retrieval (concept map visualizations), metadata, online environment, social network, system development (แต่เน้นว่าต้องประเมินระบบเต็มรูปแบบและหลายมิติ ไม่ใช่แค่พัฒนาระบบ) นอกจากนั้น งานวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีแนวโน้มที่แตกต่างกัน เช่น Pittsburgh จะเน้น computer science ส่วน Rutger จะเน้นมาทาง communication
  • สุดท้าย รศ.ดร. สมพร ได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า ปัญหาของการศึกษาประเทศไทย คือการแบ่ง track ของการเรียนเร็วเกินไป ทำให้ขาดความรู้บางอย่าง เช่น วิทยาศาสตร์ไม่เข้าใจ epistemology ซึ่งเป็นการถกเถียงกันเรื่องความรู้ อย่างไรก็ตาม สมัยนี้สามารถเรียนเองได้ถ้ารู้จุดอ่อนของตัวเอง เช่น ความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เรียนฟรีได้จากเว็บไซต์ khan academy ปริญญาโท จุดยืนคือมุ่งจะเข้าใจ ปริญญาเอก จุดยืนคือ สร้างองค์ความรู้ ความเชื่อทางวิชาการมาจากการศึกษาวิจัย ไม่ได้เกิดจากการซักถามผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียว

ขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านค่ะ ได้ความรู้และแนวคิดมากมายจากการสัมมนาครั้งนี้

ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ (3)

เขียนต่อจาก [ ตอนที่ 1 ] [ ตอนที่ 2 ]
สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ ที่ หลักสูตร Information Science ของ มสธ. จัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554

รศ.ดร. สมพร พุทธาพิทักษ์ผล ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับ Research Areas สาขาสารสนเทศศาสตร์ ไว้ด้งนี้

  • Information representation (and organization) แนวคิดวิจัยแบบเดิมคือ เอาหัวเรื่อง หมวดหมู่มาวิเคราะห์ ปัจจุบันน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เราไม่สามารถจัดหมวดหมู่แบบ top down ได้ ต้องมองในสภาพแวดล้อมใหม่ ตอนนี้งานวิจัยหันไปทาง metadata แต่มักให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานมากเกินไป โดยเฉพาะที่อเมริกา ท้ายสุดจะกลายเป็นกลุ่มใครกลุ่มมัน
  • Bibliometrics / Infometrics / webometrics ศึกษาโครงสร้างความสัมพันธ์ของสารสนเทศ วรรณกรรมที่เป็น artifact จับต้องได้ (ไม่ใช่เฉพาะหนังสือเท่านั้น) เป็นงานวิจัยที่ศึกษาการสื่อสารในวงวิชาการ (scientific communication) Bibliometrics เป็นการศึกษา citation analysis เชิงปริมาณเท่านั้น ไม่มีมิติอื่น (แต่ถ้าเพิ่มมิติอื่นเข้าไปด้วย จะทำให้งานวิจัยตอบโจทย์ได้ดีขึ้น) เป็นสารสนเทศในการตัดสินใจ ที่มองสารสนเทศเป็นสัญญาน (signals) รับ-ส่ง ตามทฤษฎี information theory ของ Shannon แต่หากจะมองให้กว้างขึ้น ต้องมีส่วนของความคิด ความเข้าใจ (cognitive process) จะต้องคำนึงถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ การใช้ ภาระงาน (tasks) เช่น งานวิจัยของ Wilson และ Karen (Pettigrew) Fisher
    Bibliometrics เป็นความพยายามนำการวัดเชิงปริมาณมาใช้ ตามกฎของ Bardford’s law, Lotka’s law ซึ่งมองการกระจายตัวของผู้เขียน ข้อสังเกตคือ คนที่ผลักดันงานวิจัย มักเป็นพวกที่อยู่แนวหน้า (research front) คือคนที่มีงานวิจัยเยอะมาก ซึ่งจะมีจำนวนแค่ 5-20% ของคนทั้งหมดเท่านั้น และการใช้สถิติ t-test, f-test วัดออกมาเป็น Gaussian (normal) distribution ไม่ใช่การวัดสารสนเทศ
  • Information behavior เพื่อพัฒนาปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ human-computer interaction (HCI) / model ของ information seeking เปลี่ยนจากการศึกษาเอกสารและห้องสมุด มาเป็นศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ (user behavior) เป็นการศึกษาผู้ใช้ (user studies) และกลายมาเป็น information behavior model
  • Digital Libraries เรื่องนี้เป็น area ที่ใหญ่ กำลังเติบโต และได้รับทุนสนับสนุนมากทั้งในยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะจาก NSF แต่ข้อสังเกตคือ “Digital” big แต่ “Library” small มีประเด็นที่น่าสนใจคือโครงการ Memory of the World ของ UNESCO เพื่อสร้างสารสนเทศจากความทรงจำของคนในอดีต อย่างไรก็ตาม การสร้าง Digital Library มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเทศผรั่งเศส จะคัดค้านแนวความคิด Googlization of the World เพราะเห็นว่าองค์ความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ค้นหาจาก Google เท่านั้น และการค้นแต่ Google จะเป็นพฤติกรรมที่มีผลกระทบตามมา

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ (Juncture) ของ Information science
ในโลกของ information science แม้ว่าเราจะเป็นศาสตร์ เป็นสหวิทยาการ แต่อีกมุมมองหนึ่ง มีนักวิชาการหลายกลุ่มที่กำลัง move เข้ามาในนี้ เช่น แพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ปัจจุบัน computer science เกิดจุดสะดุด เพราะงานวิจัยด้าน hardware, software มักไปอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ เป็นตัวผลักดันความก้าวหน้า ไม่ใช่มาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ดังนั้น CS จึงหันมาสนใจสารสนเทศศาสตร์ในลักษณะ iSchool มีการหันมาสนใจ social informatics ด้วย ดังนั้นการวิจัยจึงเป็นกระบวนการที่ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าต้องการแข่งขันเพื่อหาจุดยืนใหม่ของ field (big competition / fight for stakes) โลกของการวิจัยเป็นโลกของความซับซ้อน ต้องเอาความเชื่อของศาสตร์เข้ามาด้วย เป็น interdisciplinary

อาจารย์สมพร ได้ให้ข้อคิดว่า การบริโภคงานวิจัย ต้องเลือกบริโภคเฉพาะงานวิจัยที่ดี ผลงานวิจัยจะมาพร้อมความเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้นมุมมองจากงานวิจัย ไม่ใช่มุมมองที่คนทั้งโลกเห็นด้วย และไม่ใช่ว่าเป็นงานวิจัย จะต้องเชื่อได้หมด ต้องมีวิจารณญานเอง เราไม่สามารถกำจัด bias ออกจากการวิจัย (control) ได้เหมือนวิทยาศาสตร์ แต่เราต้องควบคุม bias โดยเพิ่ม reliability ปัญหาการทำวิจัยของเราคือขาดพื้นฐานทางทฤษฎี อ่านน้อย ไม่คิดเชิงวิพากย์ อ่านแล้วลอก ไม่มีพื้นเลย

อาจารย์ได้ยกตัวอย่างดุษฎีนิพนธ์ที่น่าสนใจ ในการสร้างกรอบแนวคิดทฤษฎีใหม่ ของ Chiraf Shah (2010) เรื่อง A Framework for Supporting User-Centric Collaborative Information Seeking (CIS) ภายใต้การดูแลของ Prof. Gary Marchionini และเห็นว่างานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอก ต้องไม่ใช่แค่พัฒนาระบบ Systems Development Life Cycle (SDLC) แบบนักศึกษาปริญญาโทเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจกรอบแนวคิดและทำให้เกิดเป็นรูปธรรม แปลงเป็น function ได้

ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ (2)

[ เขียนต่อจากตอนที่ 1 ]
สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ ที่ หลักสูตร Information Science ของ มสธ. จัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554

ผศ.ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ ได้พูดถึงประเด็นปัญหาการวิจัยในสาขาสารสนเทศศาสตร์ พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยและดุษฎีนิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งประเด็นเป็น

  • พฤติกรรมสารสนเทศ (information behavior) ซึ่ง Bates ได้ให้ความจำกัดความเอาไว้ชัดเจนมากว่าคือ many ways in which human beings interact with information, in particular, the ways in which people seek and utilize information ซึ่งมีทั้ง ความต้องการสารสนเทศ (need) การแสวงหาสารสนเทศ (seeking) ผู้ใช้ และการใช้สารสนเทศ (use) แหล่งสารสนเทศ และอุปสรรค เป็นงานวิจัยพวก task analysis ของคนในสาขาวิชาชีพต่างๆ และผูกกับสถานการณ์ ตัวอย่างที่น่าสนใจมาก คือดุษฎีนิพนธ์ของ ดร. ทรงพันธุ์ เจิมประยงค์ เรื่อง the transition of worldviews: collective information behavior during the 2006 Thai coup d’etat.
  • การศึกษา (LIS Education) เป็นประเด็นวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตร บัณฑิต การประกันคุณภาพ การศึกษาต่อเนื่อง ตัวอย่างงานวิจัย เช่น What makes a quality Ph.D. program in library and information sciences?
  • Bibliometrics / Infometrics / Scientometrics เป็นแนววิจัยที่มีพื้นฐานจาก citation analysis เพื่อดูแนวโน้มงานวิจัย เป็นตัวชี้วัดคุณภาพ วัด scientific production, scientific output ตัวอย่างงานวิจัย เช่น Research collaboration between countries, universities and individuals
  • Information Management ใช้ในภาคธุรกิจ ได้แก่ aiding business strategy, corporate information resources, information resource management, online information systems, organizational aspects เน้นศึกษาภายในองค์กร
  • Information Literacy skill รวมทั้งเรื่อง ความสามารถในการใช้เครื่องมือ (tool literacy), computer competency, digital divide งานวิจัยเรื่องนี้ในประเทศไทยไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มองแต่เรื่องมาตรฐาน ยึดตามมาตรฐานของต่างชาติ ไม่มีการพัฒนา model ในบริบทของเราเอง จับประเด็นวิจัยยาก

ส่วนประเด็นอื่นๆก็มี เช่น บริการสารสนเทศในองค์กรต่างๆ ทรัพยากรสารสนเทศ การจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ การจัดการองค์การสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบัน มุ่งไปศึกษาสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และใช้ ICT เป็นเครื่องมือเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการศึกษา human-computer interaction (HCI) ให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (user-centric) รวมทั้ง การจัดการความรู้ (KM) องค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO) ห้องสมุดดิจิทัล (DL) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่คาบเกี่ยวกันหลายศาสตร์ โครงการวิจัยด้าน digital library มักจะได้ทุนวิจัยจำนวนมาก โดยเฉพาะจาก NSF มีความร่วมมือระหว่าง LIS กับ computer science มานาน แต่ประเทศไทยเรา ต่างคนต่างทำ ประเด็นวิจัยยังค่อนข้างเล็ก ไม่สามารถลงลึกได้

ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ (1)

ไปฟังสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ประเด็นและทิศทางการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ ที่ หลักสูตร Information Science ของ มสธ. จัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 เลยเก็บตกเกร็ดความรู้มาฝาก วิทยากรที่มาบรรยาย มี 6 ท่าน คือ ศ.ดร.ชุติมา สัจจานันท์ รศ.ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล ผศ.ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ ผศ.ดร.อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ ผศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีบริสุทธิ์สกุล และ รศ.ดร. ปัทมาพร เย็นบำรุง

แนวคิดที่ได้จาก ศ.ดร.ชุติมา คือ การวิจัยเป็นมิติที่สามของวิชาชีพ การวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา รวมทั้งเป็นเครื่องมือสร้างความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมให้แก่วงการด้วย บทบาทของครูนอกจากจะสอนดีแล้ว ต้องรอบรู้ในเรื่องที่สอนด้วย การวิจัยจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอน การบริการทางวิชาการแก่สังคม และเป็นเครื่องมือพัฒนาคนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักวิชาการ นักวิชาชีพ หรือนักศึกษา … สรุปว่า หนีไม่พ้น การวิจัยเป็นวิถีชีวิต ยิ่งทำมาก ยิ่งพบว่าตัวเองรู้น้อย ต้องลุ่มลึก ต้องทำข้ามศาสตร์ได้และพยายามมองหา area ของเรา ไม่ต้องกลัวว่ามีที่ผิด ต้องคิดเชิงวิพากย์ (critical thinking) ลดอัตตา ยอมรับคำวิจารณ์ (ใครติ แสดงว่าเขาอ่าน ถ้าไม่ติ แสดงว่าไม่ได้อ่าน) ไม่ใช้ความรู้สึกของตัวเอง เช่น งานยุ่ง ทำยาก ฯลฯ แต่ต้องลงมือทำ เราไม่ได้มีแต่เพียง “วาระการอ่านแห่งชาติ” เท่านั้น เรายังมี “วาระการวิจัยแห่งชาติ” ด้วย

แนวคิดที่ได้จาก รศ.ดร.สมพร คือ การย้อนรอยประวัติศาสตร์ของ Information Science อาจารย์พูดถึง Vannevar Bush วิศวกรชาวอเมริกันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 กับแนวความคิดเรื่อง Memex กับบทความเรื่อง As We May Think


( ภาพจากเว็บไซต์ http://www.motherboard.tv/2010/8/17/the-essay-that-inspired-the-internet-65-years-ago )

พื้นฐานของปัญหา information science มาจาก information explosion แล้วเราพยายามจะควบคุมโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ (โดยมองไปที่คนและสังคมมากกว่าเทคโนโลยี) ต่อมาปัจจุบันเริ่มกลายเป็น communication explosion อาจารย์พูดถึง Chaim Zins (2007) ซึ่งสร้าง Knowledge map of information science จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในวงการ Information Science จำนวน 57 คน แบบ Dephi Study สรุปว่า ความหมายของ Information Science นั้นหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับจุดยืนของความเชื่อ ยิ่งอ่านมากจะยิ่งพบว่า มุมมองที่เราเชื่ออาจเป็นส่วนหนึ่งของอีกมุมมองหนึ่ง การพิจารณา data information knowledge ในลักษณะของ UD (universal domain) หรือ objective จับต้องได้ กับ SD (subjective domain) พบว่า data และ information มักมีลักษณะเป็น UD แต่ knowledge มีลักษณะเป็นได้ทั้ง UD และ SD

Tefko Saracivic เห็นว่า องค์ประกอบสำคัญของ information science เปรียบเสมือนฟันเฟือง 3 ตัวที่เกาะกันและหมุนตลอดเวลาคือ คน สารสนเทศ และเทคโนโลยี โดยเขียนบทความอธิบายความหมายของ information science ไว้เมื่อปี 1999 และล่าสุดเมื่อปี 2009 นอกจากนั้น อาจารย์ยังพูดถึงบทความปี 2010 เรื่อง Australian PhDs by LIS educators, researchers and preactitioners: Depicting diversity and demise ซึ่งใช้ Australian and New Zealand Standard Research Classification (ANZSRC) และพูดถึงแนวคิดของ Buckland (1991) ที่จำแนกสารสนเทศเป็น 3 แบบคือ information-as-process, information-as-knowledge และ information-as-thing

ผศ.ดร.พิมพ์รำไพ ให้แนวคิดเรื่อง information science โดยอ้่างอิง แผนที่ความรู้ของ Zins เช่นเดียวกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ คือ 1. พื้นฐานความรู้ 2. ทรัพยากร/ระบบ 3. ผู้ปฏิบัติงานด้านความรู้ 4. เนื้อหา 5.การประยุกต์ (ใช้) 6. การดำเนินงานและกระบวนการ 7. เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการความรู้ 8. สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม 9. องค์กร 10. ผู้ใช้สารสนเทศ อาจารย์เห็นว่า ด้านที่ 8 คือสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยทำวิจัยน้อย เช่นนโยบายสารสนเทศ มักจะเป็นเรื่องของนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่า รวมทั้งเรื่องอื่นๆ เช่น จริยธรรม ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิของเจ้าของผลงาน เป็นต้น

All about “Information Science”

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของการสอบวัดคุณสมบัติของการเรียนหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ … เลยลองค้นข้อมูลเล่นๆ ว่าในโลกนี้ เขาพูดถึง “Information Science” กันว่าอย่างไรบ้าง … อะไรคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของศาสตร์ด้านนี้

  • Information science ความหมายตามพจนานุกรม คือ an interdisciplinary science primarily concerned with the analysis, collection, classification, manipulation, storage, retrieval and dissemination of information
  • รายละเอียดเกี่ยวกับ Information Science หาอ่านได้ใน วิกิพีเดีย
  • “Knowledge Map of Information Science” ของ Chaim Zins ลงในวารสาร Journal of the American Society for Information Science and Technology ปี 2007 ซึ่งจะมีด้วยกัน 4 บทความ เป็นบทความที่มีความสำคัญมากสำหรับจุดยืนของสาขานี้ และควรต้องอ่าน
  • ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาทางด้านนี้แถวยุโรปและอเมริกา จำนวนกว่า 30 แห่ง ได้รวมตัวผลึกกำลังกันเป็นเครือข่าย เรียกว่า I-Schools หรือ Schools of Information แถวบ้านเราก็มี ชื่อว่า CISAP (Consortium of iSchools Asia Pacific)

ว่ากันว่า ศาสตร์นี้ ไม่ได้เน้นการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ (Discovery) สักเท่าไหร่ แต่เน้นที่การพัฒนา (Development) มากกว่า ลองอ่านบทความนี้ดูก็แล้ววกัน .. What has information science contributed to the world?
และบทความปี 2010 เรื่อง New roles for information professionals in today’s fast changing environment

อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นส่วนตัวแล้ว ในโลกอนาคต เราว่าอาชีพ Information Professional ไม่น่าจะจำเป็นต้องมีมากนัก ยกเว้นจะเก่งและรู้ลึกจริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็น ก็น่าจะทำตัวเป็น Information Professional ได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง .. โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ นะ (เราว่า)