Web 2.0 และ Social Networking สำหรับเครือข่ายประชาสัมพันธ์

16 พฤศจิกายน 2552

วันนี้มีความสุขมาก ที่มีโอกาสได้ไปบรรยายให้เครือข่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ฟังประกอบไปด้วยบรรดานักประชาสัมพันธ์ เว็บมาสเตอร์ และบุคลากรอาชีพอื่นๆ ที่มาจากคณะ สถาบันต่างๆ หัวข้อบรรยายเรื่อง Web 2.0 และ Social Networking เป็นเรื่องโปรดของตนเองมานานแล้ว ดีใจที่ความรู้และประสบการณ์ที่เก็บสะสมไว้น่าจะทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยได้บ้างไม่มากก็น้อย มีการถ่ายทอดสดทาง IP-TV ด้วย มีน้องๆ หลายคนนั่งดูจากจอคอมพิวเตอร์เพราะไม่ได้มาร่วมงาน และอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็คงต้องไป present (ฉบับย่อ) ให้ผู้บริหารฟังในที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัย

สิ่งที่คาดหวังคือ เราจะได้สร้างเครือข่าย KM กันด้วย NewMedia / Social Media สร้างมิตรภาพในหมู่ชาวเรา และได้เล่นสนุกขณะทำงานไปด้วย

เตรียม slide บรรยาย ไม่ได้แจกเอกสาร แต่เก็บไว้ใน Slideshare ให้เข้าไปดูเอาเองที่ http://www.slideshare.net/Ruchareka ใน slide presentation ได้เอาข้อมูลและภาพมาจาก slides ของคนอื่น แต่ได้ใส่อ้างอิงเว็บไซต์เอาไว้แล้ว คงไม่ว่ากัน … ใครต่อใครรวมทั้งบรรดา tweeple ที่ได้กล่าวพาดพิงถึง ต้องขออนุญาตไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

สำหรับผู้อยู่ในเครือข่ายประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายเว็บมาสเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทุกท่านโปรดทราบ บัดนี้ Big Boss ของเรา คือท่านรองอธิการบดีพาสน์ศิริ ได้เปิด Twitter แล้ว ที่ @passiri_VP ขอเชิญ follow ได้เลยค่ะ และท่านประเดิมการใช้ Twitter ด้วยการ follow @ruchareka เป็นรายแรก รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ !

ในค่ำคืนวันนี้ มี MU หลายคนที่ทยอยกันเข้ามาใน web 2.0 World … รวมทั้ง @peacemahidol
@nootsara @varasaya @rukiko ด้วย … ยินดีต้อนรับค่ะ

คิดให้เป็นแกะดำ

วันที่ 21-22 พ.ค. 52

สองวันนี้ มีโอกาสได้ไปร่วมสัมมนา การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศูนย์ปฏิบัติการ โรงแรม Salaya Pavilion วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ครึ่งวันแรก เป็นการบรรยายเรื่อง “คิดให้เป็นแกะดำ” โดย คุณประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์ และคุณนฤมล บุญทวีกิจ จาก บริษัท Brand Connections รู้สึกว่าใช่เลย ก็เลยนำเนื้อหาการบรรยายมาถ่ายทอดต่อ … และหากใครคิดว่าตัวเองเป็นแกะดำ อยากจะเข้าฝูง ติดตามอ่าน Blacksheep : แกะดำทำธุรกิจ ได้ที่เว็บไซต์ http://www.blacksheep.co.th ค่ะ

blacksheep

คุณประเสริฐพูดถึงประสบการณ์ของตนเองในการทำธุรกิจจนกระทั่งประสบความสำเร็จ โดยใช้กระบวนการคิดแบบใหม่ สร้างโมเดลใหม่ของธุรกิจที่เติบโตแบบกบกระโดด Creative Economy กล้าเสี่ยงอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเชื่อว่า ระบบความคิดสำคัญกว่าองค์ความรู้ ถ้าเรามีความคิดที่ถูกต้อง อย่างไรก็คิดออก.. คิดแบบแกะดำ เพื่อประโยชน์ 2 ข้อ คือ 1. ทำธุรกิจ 2. สร้างความสุขให้แก่ตนเองอย่างยั่งยืน

  • สังคมจะไปข้างหน้าได้ ต้องเชื่อใน กระบวนการที่ยุติธรรม (Fair Process) ไม่ใช่ ผลลัพธ์ที่ยุติธรรม (Fair Result) และ Fair Process จะเกิดขึ้นได้ ผู้นำจะต้องมีคุณธรรม และความซื่อสัตย์ และที่สำคัญ ผู้นำจะต้องมี passion ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความเป็นเลิศด้วย อย่าทำแค่พอผ่าน หรือแค่นี้ก็ดีแล้ว ต้องทำแบบ 100% ก็ไม่พอ ต้องเกิน 100 … เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นระดับโลก
  • ต้องเปลี่ยนวิธีคิด สร้างความสุขให้แก่ตัวเองโดยมองรอบตัวเรา (งาน ความร่ำรวย สังคม ศาสนา ครอบครัว เพื่อน สุขภาพ การพักผ่อน) อยู่ร่วมกับคนที่คิดไม่เหมือนกันได้ โดยต้องยอมรับและฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน
  • เป็น Change Agent ทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกได้ ไม่จำเป็นต้องมี IQ สูง อยู่ที่ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ใส่ใจในรายละเอียด ทำได้ทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ความสามารถ
  • มีความเป็นอิสระ ความเป็นปัจเจกบุคคล แต่ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง และมีพัฒนาการให้แก่สังคมด้วย คือแตกต่างอย่างมีเหตุและมีผล
  • ช่างสงสัย ตั้งคำถามโดยใช้ World View มาหาคำตอบ ไม่ทำตามกันเพียงเพราะ “เขาบอกว่า” หรือทำตาม convention แบบพวกแกะขาว … และต้องกล้าปฎิเสธ ถ้าไม่มีเหตุผลต้องกล้าถกเถียง
  • รักความท้าทาย ไม่กลัวความเสี่ยง กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง ไม่ใช่แค่คิดอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เกิดผลด้วย
  • คิดอย่างสร้างสรรค์ คิดแบบองค์รวม ใช้สมองทั้ง 2 ข้าง โดยใช้สมองด้านขวานำ แล้วใช้สมองด้านซ้ายตาม คือคิดอย่างสร้างสรรค์ โดยหาตรรกะมาสนับสนุน … New solution to old problem คำตอบใหม่สำหรับปัญหาเก่า การหา solution ใหม่ ต้องคิดด้วยสมองด้านขวา ไม่ใช่ด้านซ้าย
  • การคิดอย่างสร้างสรรค์ มีความจำเป็นต่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่ง ประชาสัมพันธ์คือการเล่านิทานให้ผู้ใหญ่ฟัง ต้องเล่าเรื่องเก่ง มี entertainment มองสิ่งคุ้นเคยให้เป็นเรื่องไม่ปกติ สะสมคลังความรู้และรู้จักประมวลข้อมูล องค์ความรู้ไม่ได้อยู่ในหนังสือเสมอไป คุยกับผู้คน ดูหนังฟังเพลงก็สร้างความรู้ได้
  • ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็คิดขึ้นมาได้เอง ต้องมีกระบวนการ … วันๆ ไม่ใช่รู้เฉพาะเรื่องที่เราทำอย่างเดียว ต้องมีความรู้ข้ามสายพันธุ์ ต้องไม่มีอคติทำตัวเป็นกลาง จึงจะดูดซึมความรู้เข้ามาได้ เหมือนกระดาษซับ ต้องเปิดใจให้กว้าง และสังเกตจนเป็นนิสัย รู้จัก unlearn ปล่อยความรู้ความเชื่อเดิมๆ ทิ้งไป แล้วนำของใหม่เข้ามาโดยไม่มีข้อจำกัด … ห้ามพูดคำว่า ทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ คำว่า “ไม่” จะทำให้ทุกอย่างจบ ต้องคิดว่า ทุกอย่างเป็นไปได้

ความสุขที่ยั่งยืนของแกะดำ คือ

  • ค้นหาจิตวิญญาน : อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ให้อิสระในการค้นหาตัวเอง สนทนากับตัวเอง เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองหลายๆ อย่าง เด็ดขาดกับการตัดสินใจ
  • บริหารจัดการชีวิต : เป็นนายของเวลา คิดแล้วทำเลย จับปัญหาทีละเรื่อง ทำตัวเรียบง่าย ไม่เป็นภาระต่อตัวเองและผู้อื่น
  • ทำดีให้ตัวเอง : เติมอาหารสมองทุกวัน ดูแลสุขภาพ เป็นพวกสุขนิยม
  • ทำดีต่อผู้อื่น : ฝากความรู้สึกดีๆ กับคน ไม่พูดปด ไม่นินทาคน ไม่พูดลับหลังคน ทำดีอย่าหวังผล เป็นธนาคารใจ ฝากให้เยอะ-ถอนให้น้อย empathy เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น คบคนชั่วชีวิต เสมอต้นเสมอปลาย มีแนวคิด “พรรคพวก” ต้องสนับสนุนแต่ไม่เบียดเบียนเพื่อน และชาตินิยม สนับสนุนธุรกิจของคนในชาติเดียวกัน

คนคือหัวใจของธุรกิจ คนที่มีความสำคัญมากที่สุดและต้องได้ก่อนเป็นคนแรกคือ พนักงาน ไม่ใช่ลูกค้า หรือผู้ถือหุ้น

กระบวนการพัฒนาความเป็นแกะดำ

  1. จิตเป็นนาย (ใจกล้า ใจถึง มี passion อดทน-อึด จิดบอกทำได้ กายก็จะทำได้)
  2. อยู่ให้ถูกที่
  3. สร้างความเป็นเลิศในการส่งมอบ (ไม่ใช่แค่ 100% ต้องเกิน 100)
  4. ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย

คุณลักษณะความเป็นแกะดำ

  1. ใจกล้า บ้าบิ่น มุ่งมั่น การเปลี่ยนแปลงโลกเกิดจากคนไม่กี่คน ที่ใช้ความกล้าในการตัดสินใจทำ ในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ
  2. มีความดื้อรั้น ไม่ยอมแพ้ ทะลายกำแพงที่ขวางหน้า
  3. หาฝูงแกะดำ ผู้นำที่มีจิตวิญญาน ส่งผ่านความเชื่อและความรู้สึกของเรา
  4. ดื่มด่ำกับคำว่า คุณภาพ มากกว่า ปริมาณ
  5. ทำตัวเรียบง่าย ไม่สร้างภาระให้ตัวเองและผู้อื่น ทำให้มีเวลาเหลือ
  6. รักษาเวลา รักษาสัญญา รักษาคำพูด

ตบท้ายด้วยวิดีโอโฆษณา Think Different ของ APPLE

“While some may see them as the crazy one, we see genious.
Because people who are crazy enough to think that they can change the world,
are the ones who do.”