ธรรมะกับการทำงาน

วันที่ 26 มีนาคม 2552 เป็นวันที่ 11 ของ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานฯ วันนี้เรียนเรื่อง “ธรรมะเพื่อปลุกพลังในการทำงาน”

กาบรรยายเน้นในเรื่องการพัฒนาตน และการมี Self Esteem หรือความนับถือตนเอง เพราะกว่าจะมีบุญ ได้เกิดเป็นมนุษย์ทั้งทีก็ยากเย็นแสนเข็ญ ดังนั้นจึงนับว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะได้พัฒนาตน พัฒนาชีวิตให้ดีหรือเจริญยิ่งๆขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ … ผู้ที่ศึกษาเรื่องของชีวิต ย่อมจะไม่ปล่อยให้ชีวิตผ่านไปอย่างไร้สาระ … ดังนั้น ถ้ายังไม่สามารถก้าวพ้นจากโลกด้วย “โลกุตตรธรรม” ก็อาศัย “โลกียธรรม” หรือธรรมอันเป็นวิสัยของโลก ช่วยประคับประคองให้เราทำงานดีขึ้นไปก่อนก็แล้วกันนะ

  1. ต้องมีเป้าหมายในชีวิต : ต้องบังคับควบคุม การทำอะไรให้สำเร็จ ต้องฝืนใจ อย่าเห็นแก่ความสนุกสนานชั่วครู่ หรือปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตามกระแส ต้องลอยทวนน้ำ … คนที่ปฏิเสธไม่เป็นคือคนอ่อนแอ คนที่เข้มแข็งจะปฏิเสธตนเองเป็น … รู้จักฝึกใจ (Self Negation) ฝืนใจ – ฝืนทำแต่สิ่งที่ดี เอาชนะตนเอง และเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ อย่าโทษคนอื่น หรือสิ่งอื่น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการกระทำของตัวเราเองทั้งนั้น ไม่ชาตินี้ก็ชาติก่อน
  2. ทำงานด้วยความสุข : ความสุขคือ ความรู้สึก “พอใจในเบื้องหลัง มีหวังในเบื้องหน้า” โดยมี “กำลังใจ” เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ
  3. ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร : โดยใช้ อิทธิบาท 4 หรือหนทางแห่งความสำเร็จทั้ง 4 ประการ คือ ฉันทะ (พอใจในสิ่งที่ทำ) วิริยะ (ทำด้วยความพากเพียร) จิตตะ (ใจจดจ่อแน่วแน่กับสิ่งที่ทำ) วิมังสา (ใช้ปัญญาไตร่ตรอง ทบทวนว่าสิ่งที่ทำอยู่ บังเกิดผลดี หรือต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร) … แหมที่แท้ก็คือต้นกำเนิดของ Plan-Do-Check-Act นั่นเอง
  4. ให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน : ไม่คิดถึงเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้วในอดีต หรือเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
  5. ให้คิดเชิงบวก มองโลกในแง่ดี : ถ้าใครอ่านหนังสือ The Secret ก็จะพบว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับ “Law of Attraction” กฎแห่งการดึงดูด เพราะจิตของเรามีพลังอำนาจมหาศาล พูดง่ายๆก็คือ ให้คิดแต่สิ่งที่ดี แล้วสิ่งดีๆ จะถูกดึงดูดเข้ามาหาเราเอง … แต่คิดในเชิงลบบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะบางครั้ง ความคิดเชิงปฏิเสธ จะหมายถึงความรอบคอบระมัดระวัง ไม่ใช่กลัวจนไม่ต้องทำอะไร แต่เป็น “อัปมาทธรรม” คือ ความไม่ประมาท

พูดถึง “สังคหวัตถุ 4” หรือหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่น เพื่อประสานหมู่คนไว้ในความสามัคคี ได้แก่

  1. ทาน : การให้ … ทานมี 3 ประเภทคือ ทาสทาน สหายทาน สามีทาน ดังนั้นควรให้แต่ของที่ดีที่สุด ไม่ใช่ให้ของที่เลวกว่าที่เรากินเราใช้ หรือของเหลือทิ้ง
  2. ปิยวาจา : พูดจาให้ดีๆ หน่อย เป็นผู้ใหญ่แล้วควรทำตัวเป็น “ไม้สูง โน้มกิ่งต่ำ”
  3. อัตถจริยา : สละแรงกายแรงใจ ช่วยเหลือผู้อื่น
  4. สมานัตตตา : ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ถือตัว

การที่จะควบคุมอนาคตตัวเองได้นั้น ต้องมีกำลัง 3 อย่าง คือ กำลังกาย กำลังความคิด (มีปัญญา) และกำลังใจ …. “กำลังใจ” ฝึกได้ พัฒนาได้ การฝึกใจต้องทำจากกาย ทำกายให้นิ่ง ให้หนักแน่น จึงจะเป็นบ่อเกิดของกำลังใจ (Mind Power)

สุดท้าย วิทยากรแนะนำให้ฝึกจิต เพิ่มกำลังใจ โดยการ “นั่งสมาธิ” กั้นความคิดไม่ให้คิด เปรียบเสมือนการกั้นน้ำด้วยเขื่อน น้ำในเขื่อนที่ถูกกัก เวลาปล่อยออกมาจะกลายเป็นพลังงานมหาศาล สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

2 thoughts on “ธรรมะกับการทำงาน

ใส่ความเห็น