บันทึกการไปประชุม 15th AUNILO Meeting ที่อินโดนีเซีย

การประชุมห้องสมุดเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนครั้งที่ 15 (15th AUNILO Meeting) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-8 สิงหาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา (Universitas Gadjah Mada: UGM) เมืองยกยาการ์ตา (Yogyakarta) ประเทศอินโดนีเซีย ห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ AUNILO (Libraries of ASEAN University Network) มีจำนวนทั้งสิ้น 30 แห่ง จาก 10 ประเทศ และในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุม AUNILO Meeting ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ “Enhancing Roles of AUN Libraries in Supporting Education 4.0: Opportunities and Challenges” และร่วมกันจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ของ AUNILO จำนวนทั้งสิ้น 41 คน ประกอบด้วยคณะทำงานของสำนักงานเลขาธิการ AUN Secretariat และ AUNILO Secretariat ผู้แทนจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 31 คน จาก 22 มหาวิทยาลัย 7 ประเทศ (การประชุมในปีนี้ ประเทศเวียดนาม ลาว และเมียนมาร์ ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม)

ผู้บริหารห้องสมุดมหาวิทยาลัยจากประเทศไทย ที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ได้แก่

  1. ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. นางสาววรารักษ์ พัฒนาเกียรติพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. รศ. ดร.ปัญญรักษ์ งามศรีตระกูล  ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลงอรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  4. นางสาวนิสาชล กาญจนพิชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริการสารสนเทศ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา

(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม)

aunilo1

รายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2562

ออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติดอนเมือง เมื่อเวลา 10:00 น. ด้วยสายการบิน  AirAsia เที่ยวบิน AK881 ไปยังสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ (KLIA 2) ประเทศมาเลเซีย (เวลาเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง) จากนั้น เดินทางต่อด้วยเที่ยวบิน AK348 ไปยังสนามบินนานาชาติอดิสุจิปโต (Adisucipto) เมืองยกจาร์การ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย และถึงสนามบินในเวลา 17:10  น. (เวลาเท่าประเทศไทย)

aunilo2.jpg

สถานที่พักในเมืองยกยาการ์ตา คือ โรงแรม The Phoenix Hotel Yogyakarta – MGallery by Sofitel สภาพอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิประมาณ 22-25 องศา ไม่มีฝนตก ค่าครองชีพไม่สูงมาก อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาทไทย (THB) เท่ากับ 460 รูเปียห์ (IDR) หรือธนบัตรใบละ 100,000 รูเปียห์ มีค่าเท่ากับ 217 บาทโดยประมาณ

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2562

พิธีเปิดการประชุม AUNILO Meeting ครั้งที่ 15 จัดขึ้นที่ Multimedia Room, University Main Building มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา เจ้าภาพจัดการประชุม Dra. Nawang Purwanti ผู้อำนวยการหอสมุดมหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา เป็นผู้กล่าวรายงาน ในลำดับต่อไป กล่าวต้อนรับโดย Mr. Chito N. Angeles ผู้อำนวยการหอสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ ประธานสำนักงานเลขาธิการห้องสมุดเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Chairperson of AUNILO Secretariat) และ ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Executive Director of AUN) กล่าวเปิดการประชุมโดย Prof. Ir. Panut Mulyono อธิการบดี มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา จากนั้น ผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศต่าง ๆ ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

aunilo3.jpg

ภาพข่าวการประชุม 15th AUNILO Meeting บน Facebook ของมหาวิทยาลัยมหิดล

aunilo4

ภาพข่าวการประชุม 15th AUNILO Meeting บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา

aunilo5.jpg

จากนั้นผู้เข้าร่วมการประชุมฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Strategies of Education 4.0 for Millennial and Post Millennial Generation” บรรยายโดย Dr. Hatma Suryatmaja  ผู้อำนวยการศูนย์ Center of Academic Innovation and Studies มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา ซึ่งมีประเด็นเนื้อหาที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่าง Industry 4.0 กับ Education 4.0 การพัฒนาสังคม 5.0 และการเรียนรู้โดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการขององค์การสหประชาชาติ

aunilo6.jpg

นอกจากนั้น ผู้บรรยายยังกล่าวถึงพฤติกรรมของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดในยุค Generation Y (Millennials) และ Generation Z ซึ่งมีลักษณะ Digital Natives และ Independent Learners ผลการสำรวจโดย GlobalWebIndex พบว่า Social Media ที่นิยมใช้มากที่สุดในอินโดนีเซีย ได้แก่ YouTube, Whatsapp, Facebook, Instagram, LINE, Twitter ตามลำดับ ในปัจจุบันการเรียนผ่านระบบ MOOC จำนวนมากถึง 8,000 Online Courses ผลิตโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลก การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี Internet of Things (IoT), Cloud, Mobile, Social Media, AI, Big Data, Robotics, Blockchain มาประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต กระบวนทัศน์ใหม่ของระบบการศึกษาได้แก่ Competency-based Education, Outcome-based Education (OBE), Community & Student Centered Learning (CSCL), Blended Learning, Virtual Learning, Distance Learning ผู้เรียนสามารถค้นหาทรัพยากรการเรียนรู้ดัวยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต ในลักษณะของ Open Educational Resources (OER) ดังนั้น อาจารย์ผู้สอนและทรัพยากรในห้องสมุดอาจไม่ใช่แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้หลักของผู้เรียนอีกต่อไป สุดท้าย ผู้บรรยายได้แนะนำระบบของมหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา ได้แก่ Science Channel ระบบ  LMS ที่มีชื่อว่า eLisa (http://elias.ugm.ac.id), ระบบ MOOC ที่มีชื่อว่า eLOK (http://elok.ugm.ac.id), ศูนย์ผลิตสื่อมัลติมีเดีย (Academic Production House) ตามคณะต่าง ๆ จำนวน 10 แห่ง และ co-learning space ที่หอสมุดมหาวิทยาลัย

ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าของแต่ละประเทศ (Country Report) ภายใต้หัวข้อ Enhancing Roles of AUN Libraries in Supporting Education 4.0: Opportunities and Challenges” โดยตัวแทนของห้องสมุดมหาวิทยาลัย เรียงลำดับประเทศตามลำดับอักษร ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย กำหนดเวลาคนละ 15 นาที โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษา อาจารย์ และหลักสูตรของมหาวิทยาลัย การพัฒนาเทคนิควิธีการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย และบทบาทของห้องสมุดในการสนับสนุนกระบวนการสอนและการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของหอสมุดมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ในการนำเสนอรายงานของประเทศไทย (Thailand Country Report)

ในช่วงค่ำ งานเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วมประชุมอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นที่ Balairung Hall ชั้น 1 ของอาคารสำนักงานอธิการบดี  พร้อมรับชมการแสดงพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเชีย

aunilo7.jpg

วันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562

ช่วงเช้าเป็นการประชุม Business Meeting ดำเนินรายการโดย Mr. Chito N. Angeles และ Ms. Christine M. Agrigo ประธานและรองประธานสำนักงานเลขาธิการ AUNILO Secretriat โดยมีวาระรับรองรายงานการประชุม AUNILO Meeting ครั้งที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม รับรองสถานภาพทางการเงิน (รายได้มาจากค่าธรรมเนียม AUNILO Portal Enhancement Fee ในอัตรา USD100 ต่อปี) ประกาศรายนามผู้บริหารของหอสมุดมหาวิทยาลัยที่มารับตำแหน่งใหม่และผู้ที่ลงจากตำแหน่ง ไว้อาลัยต่อการการไปของ Ms. Engku Razifah Chik อดีตประธาน AUNILO Secretariat ซึ่งถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 หารือในประเด็นต่าง ๆ และรับรองมติที่ประชุม (Committee Resolutions) ในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ โครงการแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศ (Resource Sharing)  โครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร (Staff Mobility) และการอนุมัติวงเงินไม่เกิน USD 1,000 เพื่อให้เหรัญญิกของ AUNILO (Dr. Vernon Totanes ผู้อำนวยการหอสมุดมหาวิทยาลัย Ateneo de Manila) สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของการเพิ่มจำนวนสมาชิก และการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อเครือข่าย AUNILO เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ยังไม่ลงมติเป็นเอกฉันท์ และขอให้เลื่อนไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

ทั้งนี้ ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Executive Director of AUN) ได้ให้แนวทางในการดำเนินการประชุม ไว้ว่า ธรรมเนียมปฏิบัติของการลงมติในที่ประชุมใด ๆ ก็ตามใน ASEAN University Nerwork (AUN) จะไม่ใช้การยกมือนับคะแนนเสียงข้างมาก แต่ใช้วิธีฉันทามติ (Consensus) หากสมาชิกท่านใดยกมือคัดค้าน แม้เพียงผู้เดียว มตินั้นเป็นอันตกไป ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้พักเบรคหรือเลื่อนเวลาออกไปก่อน อาจใช้วิธีเกลี้ยกล่อมชักชวน (Lobby) เพื่อนสมาชิกได้ แต่ห้ามยกมือโหวต และนั่นคือวิถีของอาเซียน (ASEAN Way)

ช่วงบ่ายเริ่มทำกิจกรรม 2nd AUNILO Strategic Planning Meeting and Workshop โดยมีผู้อำนวยการบริหารและทีมงานจากสำนักงานเลขาธิการ AUN Secretariat ทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้คำแนะนำเทคนิควิธีและกำกับแนวทางในการทำกิจกรรม เพื่อให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของ AUN และสามารถประสานกับ AUN Subnetworks อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ Subnetwork ที่ 17 ซึ่งเป็น Subnetwork ล่าสุดของ AUN คือ AUN-TEPL (Technology-enhanced Personalized Learning) ซึ่งมี Singapore Management University เป็นแกนนำ มหาวิทยาลัยมหิดล และ University of Malaya เป็นสถาบันนำร่อง

อนึ่ง ในปี 2020 AUN จะฉลองครบรอบ 25 ปีของการดำเนินงาน และ AUNILO ในฐานะที่เป็น subnetwork ของ ​AUN ที่มีความเก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2004 จะต้องดำเนินกิจกรรมเฉลิมฉลองและทำงานร่วมกัน subnetwork อื่นด้วยเช่นกัน ในระยะเริ่มแรก AUN มีวัตถุประสงค์จะสร้าง ASEAN Virtual University จึงได้จัดทำ AUN Inter-library Online ขึ้น เป็นที่มาของคำว่า AUNILO ต่อมาในแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกของ AUNILO (2014-2017) ซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 กันยายน 2557 ที่สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประชุมมีมติให้ใช้ชื่อ AUNILO: Libraries of ASEAN University Network เป็นครั้งแรก และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2562

          กิจกรรม 2nd  AUNILO Strategic Planning Workshop ใช้เวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 6 และ 7 สิงหาคม 2562 โดยแบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม 4 ขั้นตอน ดังนี้

aunilo8.jpg

STEP ที่ 1: Brainstorming ชมวิดีทัศน์แนะนำเครือข่ายห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮ่องกง JULAC  (Joint University Librarians Advisory Committee) HKALL (Hong Kong Academic Library Link) HKILL (Hong Kong Inter-library Loan) เพื่อเป็นกรณีศึกษาถึงแนวทางที่จะนำมาใช้กับ AUNILO จากนั้นเป็นการระดมสมองทำ SWOT Analysis โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม (ผลไม้ Apple, Orange, Banana) ร่วมกันทำ SWOT วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกที่จะมีผลกระทบทำให้เกิด Opportunity และ Treat โดยให้คำนึงถึง Unit of Analysis ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับ AUNILO ในภาพรวม จากนั้น ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอผลการวิเคราะห์ SWOT ต่อที่ประชุม

aunilo9.jpg

STEP ที่ 2 : Formulating Future Trend ทีมงานของ AUN Secretariat ทำการรวมรวบประเด็นต่าง ๆ ที่ได้จากการทำ SWOT ทั้งสามกลุ่ม ให้กลายเป็น SWOT เดียวกัน จำแนกปัจจัยต่าง ๆ ตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และเทคโนโลยี ที่อาจมีผลกระทบต่อกิจการของ AUNILO ในอีก 5 ปีข้างหน้า และ STEP ที่ 3 : Building Scenario แบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 3 กลุ่ม (ซุปเปอร์ฮีโร่ Spider Man, Captain America, Thor & Ironman) รวบรวมและจำแนกปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลทั้งทางบวกและทางลบมากที่สุด สร้างเป็นภาพหรือเรื่องราว (Scenario) ออกมา 3-4 เรื่อง ที่ประกอบด้วยปัจจัยบวกล้วน ปัจจัยลบล้วน และปัจจัยผสมผสานทั้งบวกและลบ และให้ตัวแทนกลุ่มออกมาเล่า(Story Telling) หรือฉายภาพเรื่องราวเหล่านั้นที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในอีก 5 ปีข้างหน้า

STEP ที่ 4: Formulating Strategy

ในขั้นตอนสุดท้าย แบ่งกลุ่มทำกิจกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม (รามายณะ Rama, Ravana, Hanuman) ในการระดมสมองร่างยุทธศาสตร์และแผนกลยุทธ์ของ AUNILO ในระยะ 5 ปี (2020-2024) โดยนำจุดอ่อน จุดแข็ง ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบ (SWOT) และภาพในอนาคต (Scinario) ทั้งในแง่บวกและลบมาพิจารณา ทั้งนี้  โดยมีตัวอย่างแผนกลยุทธ์ JULAC Strategic Plan 2017-2020 และ American Library Association (ALA) Strategic Plan 2015-2017 ให้เป็นแนวทาง ผลการนำเสนอของทั้งสามกลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะในประเด็นของ 1) Professional Development / Capability Building / Empowered AUNILO Librarians 2) Open Science Initiatives / Open Data / Digital Scholarship / OER 3) Gen Z & Learner Behavior ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการ AUNILO Secretariat จะได้นำแนวคิดดังกล่าวไปดำเนินการร่างเป็นแผนยุทธศาสตร์ (2020-2024) ต่อไป

ในช่วงสุดท้าย ผู้เข้าร่วมการประชุม เข้ารับประกาศนียบัตร (Certificate of Attendance) การเข้าร่วมประชุม 15th AUNILO Meeting (ลงนามโดย Prof. Dr. Ir. Djagal Wiseso Marseno รองอธิการบดีฝ่าย Education, Learning, and Student Affairs มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา) และประกาศนียบัตรการเข้าร่วมประชุม AUNILO Strategic Planning Workshop (ลงนามโดย ดร.ชลธิศ ธีระฐิติ AUN Executive Director) พร้อมรับของที่ระลึกจาก Dra. Nawang Purwanti เจ้าภาพจัดการประชุม

Capability Building Program of Training for Trainers (ToT) Workshop

นอกจากนั้น ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรห้องสมุดเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUNILO) ในหัวข้อ“Library Portal Content Enrichment through Open Education Resources” ที่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ หอสมุดมหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา สอนโดย Dr.Taufiq Abdul Gani จาก Universitas Syiah Kuala และ Ms. Melody Chin จาก Singapore Management University มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 37 คน ผู้เข้าร่วมประชุมจากมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 2 คน ได้แก่ นางสาวอุษณีย์ เพ็งเที่ยง หัวหน้างานพัฒนาทรัพยากรวารสาร และ นางสาวิตรี บุญปาลิต หัวหน้างานเผยแพร่ผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัย

aunilo10.jpg

การอบรม Open Educational Resources (OER) ดังกล่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ นโยบายด้าน OER  และการรวบรวมแหล่งข้อมูล OER ที่สำคัญเพื่อให้บริการสำหรับห้องสมุด

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562

เจ้าภาพการประชุมได้นำผู้เข้าร่วมประชุม 15th AUNILO Meeting เดินทางไปทัศนศึกษา (Cultural Visit) ที่โบโรบูดูร์ หรือ บุโรพุทโธ (Borobudur Temple) พุทธสถานนิกายมหายาน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสร้างขึ้นพันกว่าปีในราวศตวรรษที่ 8-9 ถูกค้นพบและทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ตามโครงการ Borobudur Temple Restoration Project จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 592 ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO World Heritage) ในปี 1991 ต่อมาได้เริ่มกระบวนการอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุ ตามโครงการ Borobudur Conservation Archives ในฐานะ Memory of the World โดยความช่วยเหลือของ UNESCO และพันธมิตรกว่า 28 ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ใช้การบริหารจัดการระบบจัดเก็บและค้นคืนตามมาตรฐานของ International Council on Archives (ICA) และสร้างฐานข้อมูลเพื่อการจัดเก็บโดยใช้ซอฟแวร์ฟรีที่ชื่อว่า ICA-AtoM (Access to Memory)

เอกสารจดหมายเหตุทั้งหมดของ UNESCO Archives Database สามารถสืบค้นได้จาก UNESCO Archives AtoM Catalogue ที่เว็บไซต์ https://atom.archives.unesco.org และ UNESDOC Digital Library ที่เว็บไซต์ https://unesdoc.unesco.org/archives

aunilo11

aunilo12.jpg

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2562

ออกเดินทางจากสนามบินนานาชาติ Adi Sucipto เมื่อเวลา 11:45 น. ด้วยสายการบิน AirAsia เที่ยวบิน AK347 ไปยังสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ (KLIA 2) ประเทศมาเลเซีย จากนั้น เดินทางต่อด้วยเที่ยวบิน FD320 ไปยังสนามบินนานาชาติดอนเมือง และถึงประเทศไทยเวลา 19:05  น.

ภาคผนวก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

สมาชิกของห้องสมุดเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUNILO)

ประกอบด้วยผู้แทนจากหอสมุดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 30 แห่งจาก 10 ประเทศ มีรายนามดังนี้

  1. ราชอาณาจักรกัมพูชา
  • มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ (Royal University of Phnom Penh)
  • มหาวิทยาลัยภูมินทร์นิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ (Royal University of Law and Economics)
  1. เนอการาบรูไนดารุซซาลาม
  • มหาวิทยาลัยแห่งบรูไนดารุสซาลาม (Univerisiti Brunei Darussalam)
  1. ราชอาณาจักรไทย
  • มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University)
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University)
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University)
  • มหาวิทยาลัยบูรพา (Burapha University)
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (Prince of Songkla University)
  1. สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า)
  • มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (University of Yangon)
  • มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ (University of Mandalay)
  • สถาบันเศรษฐศาสตร์ย่างกุ้ง (Yangon Institute of Economics)
  1. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
  • มหาวิทยาลัยอาเตนีโอ เดอ มะนิลา (Ateneo de Manila University)
  • มหาวิทยาลัยเดอลาซาล (De La Salle University)
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ (University of the Phillippines)
  1. มาเลเซีย
  • มหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya: UM)
  • มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งมาเลเซีย (Univesity Sains Malaysia: USM)
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Kebangsaan Malaysia: UKM)
  • มหาวิทยาลัยอุตรา มาเลเซีย (Universiti Utara Malaysia: UUM)
  • มหาวิทยาลัยปุตรา มาเลเซีย (Universiti Putra Malaysia: UPM)
  1. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (National University of Laos)
  1. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม นครโฮจิมินห์ (Vietnam National University, Ho Chi Minh City)
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม ฮานอย (Vietnam National University, Hanoi)
  • มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ (Can Tho University)
  1. สาธารณรัฐสิงคโปร์
  • มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ (Singapore Management University: SMU)
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University: NTU)
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS)
  1. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
  • มหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเชีย (Universitas Indonesia)
  • มหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา (Universitas Gadjah Mada)
  • สถาบันเทคโนโลยีบันดุง (Institut Teknologi Bandung)
  • มหาวิทยาลัยแอร์ลังกา (Universitas Airlangga)