การพัฒนาความรู้ด้านการเงินการลงทุน

14 ตุลาคม 2564 : ผู้เขียนใช้เวลาหลังเกษียณในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่องการเงินการลงทุน โดยใช้เวลา 14 วันแรก ในการศึกษาคลิปวิดีโอย้อนหลังที่ อาจารย์นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ (โค้ชนิ) มาบรรยายให้บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลฟัง จำนวน 6 หัวข้อ จัดโดย ศูนย์บริหารสินทรัพย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นกิจกรรม Financial Literacy ที่ใช้งบประมาณของโครงการ Mahidol DCU ในช่วงปี 2563 เป็นการอบรมที่ดีและมีประโยชน์มาก จึงขอนำมาสรุปและบันทึกความรู้ไว้ดังนี้ค่ะ

หัวข้อที่ 1 ปรับ Mindset เพื่อพิชิตเป้าหมายการลงทุน 

การวางแผนการลงทุน ต้องรู้จักตนเอง (เป้าหมาย ระยะเวลา สั้นและยาว) รู้จักจังหวะ (ภาวะเศรษฐกิจ) และรู้จักเครื่องมือ (สินทรัพย์มีตัวตน ทำธุรกิจ หรือสินทรัพย์การเงิน ความเสี่ยง ผลตอบแทน) ต้องเข้าใจจิตวิทยาการลงทุน อารมณ์และพฤติกรรมของตลาด ทัศนคติ และกระบวนการทางความคิดที่ใช้ในการลงทุน (Inverstment Mindset) เมื่อมีวิธีคิดที่ถูกต้อง วิธีการลงทุนของเราจะเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ ต้องเข้าใจวงจรเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นลง เพื่อให้สอดคล้องกับวงจรการลงทุน เข้าใจค่า GDP (Customer+Investor+Goverment=Export-Import) และอัตราการเติบโดโดยเฉลี่ย จัดทัพการลงทุนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความสามารถในการรับความเสี่ยง มีการกระจายความเสี่ยง เป็น 3 ประเภท คือ คุ้มครองเงินต้น/รักษาสภาพคล่อง สร้างกระแสเงิน/รักษาอำนาจซื้อ และสร้างความมั่งคั่ง

หัวข้อที่ 2 ลงทุนหุ้นอย่างมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน 

เราเป็นนักลงทุน (Investor) หรือนักเก็งกำไรแบบซื้อมาขายไป (Speculator)? นักลงทุนสายพื้นฐาน (Fundamental) ที่ลงทุนเพื่อการเป็นเจ้าของและผลตอบแทนในระยะยาว เรียกว่า Value Investor (VI) นักลงทุนสายเทคนิค (Technical) หรือสายกราฟ จะค้นหาจังหวะการซื้อขาย (Trading) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระยะสั้น นักลงทุนแบบผสมผสาน นักลงทุนสาย Passive หรือใช้วิธีการออมแบบ DCA หรือเป็นนักลงทุนประเภทตามกระแส ไม่มีแนวทางป็นของตนเอง

Peter Lynch จำแนกหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ หุ้นโตช้า (Slow Growers) หุ้นพื้นฐานหรือหุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) หุ้นโตเร็ว (Fast Growers) หุ้นวัฎจักร (Cyclicals ขึ้นลงตามภาวะตลาดโลก) หุ้นฟื้นตัว (Turnarounds) และหุ้นสินทรัพย์หรือหุ้นทรัพย์สินมาก (Asset Play)

นักลงทุนต้องเข้าใจนโยบายการเงิน (ได้ผลระยะสั้น) นโยบายการคลัง (เห็นผลระยะยาว) เข้าใจเศรษฐศาสตร์การลงทุน การวิเคราะห์แบบ TOP-DOWN ตั้งแต่ Macro Analysis (วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย) Micro Analysis (วิเคราะห์ 8 อุตสาหกรรม 28 หมวดธุรกิจ) ลงไปถึงการวิเคราะห์เป็นรายบริษัท ทั้งในเชิงปริมาณ (วิเคราะห์งบการเงิน) และเชิงคุณภาพ (วิเคราะห์ Business Model อย่างรอบด้าน ว่ากิจการสร้างรายได้ได้อย่างไร โดยใช้เครื่องมือ Business Model Canvas)

การวิเคราะห์อุตสาหกรรม สามารถทำได้โดยการดู 1) วัฎจักรธุรกิจ (Business Cycle) 2) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structure Changes) ของอุตสาหกรรมนั้น ๆ 3) วงจรชีวิตอุตสาหกรรม (Industry Life Cycle) ตั้งแต่ยุคบุกเบิก เติบโด เติบโตเต็มที่ และเสื่อมถอย 4) การแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยใช้ Five Force Model ซึ่งประกอบด้วย จำนวนคู่แข่งปัจจุบัน ความยากง่ายในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของคู่แข่งรายใหม่ อำนาจการต่อรองของลูกค้า อำนาจการต่อรองของ suppliers และสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนได้ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

การคัดกรองหุ้น (Stock Screening) จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกหุ้นที่ตรงความต้องการได้ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนกว่า 600 บริษัท สามารถใช้เครื่องมือ Settrade Stock Screener เลือกหุ้นที่มีราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท (Value) หุ้นที่บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (Growth) หรือค้นหาหุ้นจากทิศทางราคาหรือปริมาณการซื้อขาย (Momentum)

หัวข้อที่ 3 ลงทุนหุ้นอย่างมั่นใจ ต้องเข้าใจงบการเงิน 

ฐานะการเงิน : สินทรัพย์ (Asset) = หนี้สิน (Liability) + ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)

สินทรัพย์ คือ ทรัพยากรที่ให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สินทรัพย์หมุนเวียน (เช่น เงินสด เงินลงทุนระยะสั้น) และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เงินลงทุนระยะยาว) หนี้สิน คือ ภาระผูกพัน ประกอบด้วย หนี้สินหมุนเวียน (เช่น เงินกู้ยืมระยะสั้น) และหนี้สินไม่หมุนเวียน (เช่น เงินกู้ยืมระยะยาว หุ้นกู้)

ผลการดำเนินงาน : รายได้ (Revenue) – ค่าใช้จ่าย (Expense) = กำไร (ขาดทุน)

งบกระแสเงินสด หมายถึง เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่เพิ่มขึ้น (หรือลดลง) จากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน

การศึกษาข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราจะต้องอ่าน งบการเงิน/ผลประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น รวมทั้งอ่าน หมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่แสดงไว้ในรายงานผู้สอบบัญชีด้วย (ควรเลือกบริษัทที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นรับรองแบบ “ไม่มีเงื่อนไข”)

การวิเคราะห์งบการเงิน ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ขนาดร่วม (Common-size Analysis) ได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ 2) การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis) เทียบปีต่อปี หรือเทียบกับปีเริ่มต้น 3) การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis) ได้แก่ ความสามารถในการทำกำไร ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สภาพคล่อง โครงสร้างทางการเงิน การประเมินมูลค่าหุ้น จากอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล เป็นต้น 4) ข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน (Off Balance Sheet Items)

การประเมินมูลค่าหุ้น (Stock Valuation) เพื่อการตัดสินใจซื้อหรือขาย ควรซื้อเมื่อหุ้นราคายังถูกอยู่ (มูลค่าที่เหมาะสม สูงกว่าราคาตลาด) และควรขายเมื่อหุ้นราคาแพงเกินไป (มูลค่าที่เหมาะสม ต่ำกว่าราคาตลาด) อาจใช้ Technical Analysis จับจังหวะตลาดขาขึ้น (Up Trend) ตลาดขาลง (Down Trend) เทคนิคในการประเมินมูลค่าหุ้น มีหลายวิธี อาทิ การดูอัตราการเติบโตของกำไร ราคาตลาดหรือราคาปิดเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น : PER (Price to Earning Ratio) = P (Price) / EPS (Earning per Share) หรือดูราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี PBV = P / BPS (Book Value per Share) เป็นต้น

หัวข้อที่ 4 ลงทุนหุ้นอย่างมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยทางเทคนิค 

แนะนำเครื่องมือ App. efin Mobile เพื่อใช้ในการวิเคราะห์กราฟ และศึกษาวิธีการวิเคราะห์แท่งเทียน ถ้าแท่งเทียนเป็นสีเขียว แรงซื้อเป็นฝ่ายชนะ เรียกว่า Bullish Candle Stick (กระทิง) แท่งเทียนเป็นสีแดง แรงขายเป็นฝ่ายชนะ เรียกว่า Bearish Candle Stick (หมี) ถ้าแท่งเล็ก แสดงว่า ขนะแต่ไม่เอกฉันท์ แต่ถ้าแท่งเล็กติดต่อกันหลายวัน เทียบเท่าได้กับแท่งใหญ่ กราฟปริมาณการซื้อขาย (Volume)ใช้คู่กับแท่งเทียนขนาดใหญ่ จะช่วยยืนยันแนวโน้มได้ แนวโน้มขาขึ้นของหุ้น คือ ราคาทำ New High ได้ตลอดไม่ว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร แนวโน้มขาลงของหุ้น คือ ราคาทำ New Low ต่อเนื่องแม้ตลาดจะเป็นขาขึ้นก็ตาม ส่วนแนวโน้ม Sideway คือ ราคาแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบ โดยมีแท่งเขียวแท่งแดงสลับกันขึ้น-ลง ขึ้น-ลง ไปเรื่อยๆ และถ้าเมื่อไหร่ราคาทะลุกรอบบน หุ้นจะขึ้นแรง และถ้าราคาทะลุกรอบล่าง หุ้นจะลงแรง

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Candlestick_chart_scheme_03-en.svg

การเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม ต้องมีแท่งเทียนใหญ่มาบอก เรียกว่า แท่งเทียนกลับตัว

แท่งสีเขียวใหญ่แท่งแรกในสามทหารเสือ (Three While Soldiers) เป็นแท่งเทียนกลับตัว Bullish Belt Hold (ให้ซื้อ)
แท่งสีแดงใหญ่แท่งแรกในอีกาสามตัว (Three Black Crows) เป็นแท่งเทียนกลับตัว Bearish Belt Hold (ให้ขาย)

การดูแนวโน้ม โดยใช้ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ได้แก่ เส้นค่าเฉลี่ย Simple moving average (SMA) เส้นค่าเฉลี่ย Exponential moving average (EMA) 50 วัน 200 วัน จะบอกแนวโน้มปัจจุบัน บอก “แนวรับ” สำคัญ ถ้าราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น บอก “แนวต้าน” สำคัญ ถ้าราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาลง การเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม ถ้าราคาหุ้นทะลุเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นไป หรือหลุดเส้นค่าเฉลี่ยลงมา แนวรับ (Spport) มีหน้าที่ รับไว้ไม่ให้ตก เป็นแรงซื้อ ดันราคาหุ้นไว้ไม่ให้ตก แนวต้าน (Resistance) มีหน้าที่ ต้านไว้ไม่ให้ขึ้น เป็นแรงขาย กดราคาหุ้นไว้ไม่ให้ขึ้นต่อ

การวิเคราะห์แนวโน้มทางเทคนิค อาจใช้วิธีการดูราคา Price Pattern หรือใช้การดูพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคา จับจังหวะปริมาณการซื้อขาย และคาดการณ์ราคาเป้าหมาย ด้วยเทคนิควิคคอฟฟ์ Wyckoff Logic ซึ่งวัฏจักรการเคลื่อนไหวของราคาหรือตลาด จะถูกขับเคลื่อนจาก Demand (แรงซื้อ) และ Supply (แรงขาย) ที่มาจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย การเคลื่อนไหวในแต่ละวัฏจักร จะมี 4 ช่วง ได้แก่ ระยะสะสม (Accumulation) ระยะวิ่งขึ้น (Mark Up) ระยะแบ่งขาย (Distribution) และระยะดิ่งลง (Mark Down)

หัวข้อที่ 5  Buy & Sell Strategy และ Money Management

ข้อผิดพลาดในการซื้อขายหุ้น มักเกิดจาก เลือกหุ้นไม่เป็น เลือกหุ้นที่ไม่รู้จัก ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ขายหุ้นไม่เป็น ขายเพราะ panic ไม่รู้จัก stop loss ทนต่อความผันผวนของตลาดไม่ได้ เป็นต้น วิธีการซื้อขายหุ้นที่ถูกต้อง ควรมีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมเทียบกับราคาตลาด ถ้าหุ้นถูกให้ซื้อ ถ้าหุ้นแพงให้ขาย ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค ตลาดขาขึ้น (up trend) ให้ซื้อ ตลาดขาลง (down trend) ให้ขาย มีจิตวิทยาการลงทุน ถ้าตลาดกลัว (Fear) ให้ซื้อ ตลาดโลภ (Greed) ให้ขาย ทะยอยขายเมื่อตลาดคึกคัก มีข่าวดีเต็มตลาด ขายแล้วไม่ลง ให้หยุดขาย (Let profit run) ขายเมื่อราคาหุ้นถึงเป้าหมายที่กำหนด (อย่าโลภ) ขายเมื่อเกิดสัญญาณขายทางเทคนิค และให้ทะยอยขายตามน้ำหนัก Asset Allocation

CPR for Traders : P=C/R

จำนวนซื้อ (Position Sizing) ของหุ้นแต่ละตัว = จำนวนเงินที่สามารถรับความเสี่ยงจากขาดทุนได้ในแต่ละครั้ง (เงินลงทุนที่มีทั้งหมด คูณด้วย % ที่ยอมขาดทุนได้) / ราคาซื้อ – ราคาหยุดขาดทุน

สรุปขั้นตอน ดังนี้ 1) หาราคาซื้อ หาราคาขายทำกำไร หาราคาขายตัดขาดทุน 2) รู้ตัวเองว่ายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน กี่เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทั้งหมด 3) จัดสรรเงินลงทุนให้ความเสี่ยงแต่ละตัวที่ลงทุน เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินข้อ 2

หัวข้อที่ 6  จัดพอร์ตง่ายๆ ผ่านกองทุนรวม 

ประเภทของกองทุนรวม

  • กองทุนรวมตราสารเงิน (Money Market Fund) ได้แก่ กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศ (ระดับความเสี่ยง 1) กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศบางส่วน (ระดับความเสี่ยง 2)
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) พันธบัตร (ระดับความเสี่ยง 3) หุ้นกู้เอกชน (ระดับความเสี่ยง 4)
  • กองทุนผสม (Mixed Fund) แบบคงที่ และแบบยืดหยุ่น ระดับความเสี่ยง 5
  • กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) ระดับความเสี่ยง 6
  • กองทุนรวมเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Fund) ระดับความเสี่ยง 7 เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
  • กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Fund) ระดับความเสี่ยง 8 เช่น ทองคำ น้ำมัน

NAV (Net Asset Value) คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดของกองทุนรวมและผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมได้รับ หลังจากหักค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินของกองทุนรวมแล้ว การคำนวณ NAV ทำทุกวันทำการ จากการคิดคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน

NAV ต่อหน่วย = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ / จำนวนหน่วยลงทุน

ราคา Bid คือ ราคาเสนอซื้อ (เราจะขายหน่วยลงทุน ได้ที่ราคาเสนอซื้อของตลาด) ราคา Offer คือ ราคาเสนอขาย (เราจะซื้อหน่วยลงทุน ได้ที่ราคาเสนอขายของตลาด)

หนังสือชี้ชวน เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลนโยบายการลงทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง และความเสี่ยงของกองทุนรวม

อาจใช้เว็บไซต์ Morningstar ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับ Funding Rating กองทุนรวม กองทุน ETF หุ้นในประเทศไทย เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ การจัดอันดับ 1-5 ดาว ใช้การคำนวณจากราคา NAV ของกองทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง ค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ เปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง

และสุดท้าย การลงทุนควรทำ Global Asset Allocation เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนไปยังกองทุนต่างประเทศ ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น แบบ consevative (ผลตอบแทนคาดหวัง 4-6% ต่อปี) แบบ Moderate (ผลตอบแทนคาดหวัง 6-8% ต่อปี และแบบ Aggressive (ผลตอบแทนคาดหวัง 8-10% ต่อปี)

ไปอบรม Financial Management for Executives: Day 1

วันที่ 10-11 มีนาคม 2560 ได้มีโอกาสไปรับการอบรม หลักสูตรการเงินสำหรับผู้บริหารมหาวิทยาลัย (Financial Management for Executives) – กลุ่มที่ 1 จัดขึ้นที่วิทยาลัยจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นเวลา 2 วัน วิทยากรคือ ดร. อริชัย รักธรรม ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการลงทุน ทำงานอยู่ในภาคเอกชน (กรรมการตรวจสอบบริษัท SYNTEC) บรรยายได้สนุกสนานและเป็นกันเองมาก ทำให้เราได้รับความรู้มากมายที่จะนำกลับมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการส่วนงานที่เรากำกับดูแล ท่านสอนโดยใช้วิธีสนทนาพูดคุยเล่าประสบการณ์จากชีวิตจริงในแวดวงธุรกิจ ยกตัวอย่างและกรณีศึกษาประกอบ เพื่อให้เราได้แนวความคิด เปรียบเทียบ และนำบางส่วนไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัย สลับกับการทำกิจกรรมกลุ่มระดมสมองร่วมกัน จึงทำให้เราได้เห็นมุมมองทางด้านการเงิน รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงขององค์กรที่แตกต่างออกไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม เวลาอบรมมีค่อนข้างจำกัด เพียง 2 วัน จึงไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก อีกทั้งเอกสารประกอบการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ จึงทำให้ผู้เขียนซึ่งเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงินมาก่อน จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองจากหนังสือและสื่ออินเทอร์เน็ตอื่นๆ ขอขอบพระคุณท่านรองอธิการบดีฝ่ายการคลังและแผนงาน และคณะผู้จัดงาน ที่เปิดโอกาสให้ได้ไปเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ และขอบันทึกสรุปหัวข้อที่ได้รับจากการอบรม ไว้ดังนี้ค่ะ

Screen Shot 2560-03-12 at 1.44.57 PM.png

วันที่ 1 :

การบริหารจัดการการเงิน (Financial Management) โดยใช้ตัวชี้วัดผลสำเร็จของงาน (Performance Indicator)

ประเด็นด้านศรษฐศาสตร์การเงิน (Financial Economic Issues) ควรคำนึงถึง 3 ประเด็น คือ

  • เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomic issues)
  • เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomic issues)
  • การเงิน (Financial issues)

ประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomic Issues) ได้แก่

  • การวิเคราะห์อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply)
  • ต้นทุน (Cost) ของเงินทุน Capital) ชนิดต่างๆ
  • ความเชื่อมั่นของนักลงทุน (Investor Sentiment)
  • ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence)
  • ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

ประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomic Issues) ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และ ผลิตภัณฑ์มวลรวมนานาชาติ (GNP)
  • สมการ GDP = C + I + G + (X – M) หมายถึง รายจ่ายเพื่อการบริโภค (Consumption) + รายจ่ายเพื่อการลงทุน (Investment) + รายจ่ายของรัฐ เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Government Spending) + (ส่งออก [Export] – นำเข้า [Import])
  • ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) แก้ไขยาก และมักมีผลกระทบหากแก้ไขโดยขึ้นภาษีหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
  • ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment: BoP)
  • ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex) ตัวอย่างเช่น  บริษัท Super Rich
  • ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก

ประเด็นด้านการเงิน (Financial Issues) ได้แก่

  • ภาษี (Taxation) เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ และขจัดเงินเฟ้อ
  • นโยบายส่งเสริมการลงทุน เช่น การมีสำนักงาน BOI (Thailand Board of Investment)
  • การเปิดเสรีการค้า (Liberalization of Markets)
  • การโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชน หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization)
  • การอุดหนุน หรือการที่รัฐให้ความช่วยเหลือ (Subsidies) เช่น รถเมล์ฟรี นำ้ฟรี ไฟฟ้าฟรี
  • การสนับสนุนการศึกษาและการฝึกอบรม (Education and Training Support)

ประเด็นด้านธุรกิจ (Business Issues) ควรคำนึงถึง 3 ด้าน คือ

  • พฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behavior)
  • ตัวเลขทางการเงิน (Financial Numbers)
  • รายการประเมินความสำเร็จของธุรกิจ (Check List for Business Success)

ประเด็นด้านพฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behavior) 

  • การสำรวจ (Surveys)
  • การวิจัยตลาด (Market Research)
  • การรับรู้และจดจำแบรนด์ (Brand Awareness)
  • การผลิตสินค้า (Product Execution)

ประเด็นด้านตัวเลขทางการเงิน (Financial Numbers) 

  •  การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (New Housing Starts and Purchase)
  • ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Stock Exchange Indexes)
  • อัตราส่วนราคาต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงาน (Price to Unit Labor Cost Ratios)
  • ปริมาณการสั่งซื้อวัตถุดิบเปรียบเทียบกับยอดขาย (New Orders for Input compare to Sales)
  • การให้เครดิตแก่ผู้บริโภคในการสั่งซื้อแทนเงินสด (Consumer Credits and Purchase)

รายการประเมินความสำเร็จของธุรกิจ (Check List for Business Success) ประกอบด้วย

ความเข้าใจในเรื่องวัตถุประสงค์ของธุรกิจ

  • เข้าใจเป้าหมายขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  •  เข้าใจเรื่องกำไรสูงสุด (Profit Maximization)
  • เข้าใจเรื่องยอดขายสูงสุด (Sales Maximization)
  • เข้าใจเรื่องความมั่งคั่งสูงสุด (Wealth Maximization)

ความเข้าใจในเรื่องตลาดการแข่งขัน

  • การวิเคราะห์คู่แข่งขัน
  • การตั้งราคาที่กำหนดโดยคู่แข่งขัน
  • การเข้ามาของคู่แข่งขันรายใหม่  (New Entrants to the Business)

ความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมลูกค้า

  • ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความต้องการของตลาด
  • ความไว (Sensitivity) ของผู้บริโภคต่อการเปลี่ยนแปลงราคา (Price Change)

ความเข้าใจในเรื่องการตัดสินใจของผู้ลงทุน (Investment Decision)

  • อัตราส่วนของหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity Ratio) – แหล่งที่มาของเงินทุน (Sources of Funds) ขององค์กร ส่วนใหญ่มาจากหนี้สิน (Debt) หรือส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)?
  • สถานภาพของหนี้ (Liability Status) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • ตัววัดความสำเร็จของงาน (Performance Indicators) มี 2 ชนิด คือ ROE (Return of Equity) และ P/E (Price-Earnings Ratio)

ความเข้าใจในเรื่องการตัดสินใจจ้างงาน (Employment Decision)

  • มีพนักงานทั้ง full-time และ Part-time จำนวนเท่าใด ที่ต้องจ่ายเงินเดือน (Payroll)
  • เปรียบเทียบอัตราเงินเดือนในการจ้างงานกับองค์กรคู่แข่ง

การบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) และงบการเงิน (Financial Statements)

การบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) เป็นการนำข้อมูลทางการบัญชีมาใช้ในการบริหารงานและตัดสินใจ ผู้บริหารควรติดตามตัวเลขและใช้ข้อมูลด้านการบัญชีเพื่อการวางแผน (Planning)  กำกับงานให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ (Directing) ตรวจสอบ ติดตามผลการปฏิบัติงาน แก้ไขปัญหา รวมทั้งปรับเปลี่ยนแผนตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ เกิดเป็นวงจรการควบคุมเพื่อการพัฒนา (Control Cycle)

การวิเคราะห์งบการเงิน (Financial Statement Analysis) เป็นเครื่องมือช่วยในการกลั่นกรอง การพยากรณ์ และการประเมินผล เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยลดความไม่แน่นอนในการตัดสินใจ ซึ่งในทางธุรกิจผู้บริหารไม่ควรตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึก สัญชาตญาน หรือการคาดเดา

งบการเงิน (Financial Statement) ประกอบด้วย งบดุล  (Balance Sheet) หรืองบแสดงฐานะทางการเงิน (Statement of Financial Position) และงบกำไรขาดทุน (Income Statement หรือ Profit and Loss Statement)

งบดุล (Balance Sheet) 

หมายถึง รายงานที่แสดงให้ทราบถึง “ฐานะทางการเงิน” ของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง ว่ามีสินทรัพย์ (Assets) หนี้สิน (Liabilities) และทุน หรือส่วนของเจ้าของ  (Equity) เป็นจำนวนเท่าใด

สมการเบื้องต้น คือ A = L + E

สินทรัพย์ (Assets) ได้แก่ สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets: FA) เช่น อสังหาริมทรัพย์, สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets: CA),เงินสด (Cash), เงินฝากธนาคาร (Deposit), ลูกหนี้ วางบิลแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงิน (Accounts Receivable: A/R),  สินค้าคงเหลือ (Inventories), วัสดุสิ้นเปลือง (Supplies) ฯลฯ

หนี้สิน (Liabilities) ได้แก่ เจ้าหนี้ รับของแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน (Accounts Payable: A/P), ตั๋วเงินจ่าย (Notes Payable) เช่น ตั๋วแลกเงินระยะสั้นหรือตั๋ว BE, ค้างจ่าย (Accruals), หนี้สินหมุนเวียน หรือหนี้สินปัจจุบัน (Current Liabilities: CL),  หนี้สินระยะยาว (Long-term Debt/Liabilities)

ทุน หรือส่วนของเจ้าของ  (Equity) หมายถึง มูลค่าของสินทรัพย์ทีเจ้าของกิจการเป็นเจ้าของโดยปราศจากการมีหนี้สินทึ่จะต้องชำระคืนในอนาคต  เช่น หุ้นทุนหรือหุ้นสามัญ (Common Stock), กำไรสะสม (Retained Earnings) ซึ่งเป็นสัดส่วนของกำไรสุทธิที่องค์กรเก็บเอาไว้ โดยไม่ได้แบ่งกลับไปให้ผู้ถือหุ้นในรูปแบบของเงินปันผล (Dividends)

งบกำไรขาดทุน (Income Statement)

เป็นงบการเงินที่แสดงให้เห็นถึง “ผลการดำเนินงาน” ของกิจการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ว่ากิจการมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร กำไรหรือขาดทุน  คำนวณจากรายได้  (Revenues) และค่าใช้จ่าย (Expenses) ประเภทต่างๆ

  • รายได้จากการขาย (Sales)
  • ต้นทุนของสินค้าที่ขาย (Cost of Goods Sold: COGS)
  • ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (Other Expenses)
  • ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และค่าตัดจำหน่าย (Amortization)
  • อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
  • อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (Earnings before Interest, Tax, Depreciation  and  Amortization: EBITDA Margin)
  • อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
  • ภาษี (Taxes)
  • กำไรสุทธิก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBT: Earnings before Interest and Tax)
  • ดอกเบี้ยจ่าย (Interest Expense) หมายถึงค่าตอบแทนเนื่องจากการใช้ประโยชน์จากเงินทุน
  • รายได้สุทธิ (Net Income) / กำไรสุทธิ (Net Profit) / ขาดทุนสุทธิ (Net Loss)

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis)

อัตราส่วนสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratio) ตัวอย่างเช่น

  • เงินทุนหมุนเวียน (Working Capital: WC) = สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) – หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities)

อัตราส่วนประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ (Efficiency Ratio) ตัวอย่างเช่น

  • อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม  (Total Asset Turnover) = ขายสุทธิ (Net Sales) / สินทรัพย์รวม (Total Assets)
  • อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Net Fixed Asset Turnover) = ขายสุทธิ (Net Sales) / สินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets)
  • อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover) = ต้นทุนสินค้าขาย (COGS) /สินค้าคงเหลือเฉลี่ย (Avg. Inventory)
  • อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (Return on Assets: ROA)(%) = กำไรสุทธิ (Net Profit) /สินทรัพย์รวม (Total Assets)

อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร (Profitability Ratio) ตัวอย่างเช่น

  • อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)(%) = กำไรสุทธิ (Net Profit) / ขายสุทธิ (SALES)
  • ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE %) = กำไรสุทธิ (Net Profit) / ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)

อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage Ratio) ตัวอย่างเช่น

  • อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity : D/E Ratio) = หนี้สินรวม (Total Debt) / ส่วนของเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น (Total Equity)
  • อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) = กำไรสุทธิก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) / ดอกเบี้ยจ่าย (Interest Expense)
  • อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout) = เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend per Share) / กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earning per Share: EPS)

ข้อจำกัด

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจ แต่อาจมีข้อจำกัด  มีความคลาดเคลื่อนได้จากปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบ เช่น Seasonal Factors มีการตกแต่งตัวเลขทางบัญชี ทำให้รายงานงบการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินดูดีเกินจริง (Window Dressing)  และบางครั้งการแปลผลตัวเลข เพื่อสรุปว่ากิจการของบริษัทหรือองค์กรนั้นดีหรือไม่ดี ทำได้ยาก

การฉ้อโกงตกแต่งตัวเลขสถิติทางการบัญชี ที่สร้างความเสียหายในวงกว้างและมีผลกระทบไปทั่วโลก เช่นวิกฤตการณ์สินเชื่อ Subprime ในสหรัฐอเมริกา และกรณีของบริษัท Enron ที่หลอกลวงนักลงทุนจนถึงขั้นล้มละลาย (เรื่องจริงที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Crooked E: The Unshredded Truth About Enron) เป็นเรื่องที่เราควรระมัดระวังและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่จำเป็นต้องชี้นำสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  และบางครั้งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของธุรกิจอาจเกิดจากอัจฉริยภาพและปัญญาญาณของผู้นำบางคนก็ได้   — ท้ายที่สุด ความสำเร็จของการบริหาร จึงขึ้นกับว่า เราจะตัดสินใจนำตัวเลขสถิติทางการเงินและข้อมูลทางการบัญชี มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ — ได้อย่างไร

หมายเหตุ : วิทยากรแนะนำให้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องทฤษฎีเกม (Games Theory) เพื่อเสริมทักษะทางด้านการบริหารการเงิน ขณะนี้ผู้เขียนได้ลงทะเบียนเรียนวิชา Games Theory จากระบบ COURSERA Online Course หลักสูตร 8 สัปดาห์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ได้ผลเป็นประการใด จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปค่ะ