การพัฒนาความรู้ด้านการเงินการลงทุน

14 ตุลาคม 2564 : ผู้เขียนใช้เวลาหลังเกษียณในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่องการเงินการลงทุน โดยใช้เวลา 14 วันแรก ในการศึกษาคลิปวิดีโอย้อนหลังที่ อาจารย์นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ (โค้ชนิ) มาบรรยายให้บุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดลฟัง จำนวน 6 หัวข้อ จัดโดย ศูนย์บริหารสินทรัพย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นกิจกรรม Financial Literacy ที่ใช้งบประมาณของโครงการ Mahidol DCU ในช่วงปี 2563 เป็นการอบรมที่ดีและมีประโยชน์มาก จึงขอนำมาสรุปและบันทึกความรู้ไว้ดังนี้ค่ะ

หัวข้อที่ 1 ปรับ Mindset เพื่อพิชิตเป้าหมายการลงทุน 

การวางแผนการลงทุน ต้องรู้จักตนเอง (เป้าหมาย ระยะเวลา สั้นและยาว) รู้จักจังหวะ (ภาวะเศรษฐกิจ) และรู้จักเครื่องมือ (สินทรัพย์มีตัวตน ทำธุรกิจ หรือสินทรัพย์การเงิน ความเสี่ยง ผลตอบแทน) ต้องเข้าใจจิตวิทยาการลงทุน อารมณ์และพฤติกรรมของตลาด ทัศนคติ และกระบวนการทางความคิดที่ใช้ในการลงทุน (Inverstment Mindset) เมื่อมีวิธีคิดที่ถูกต้อง วิธีการลงทุนของเราจะเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ ต้องเข้าใจวงจรเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นลง เพื่อให้สอดคล้องกับวงจรการลงทุน เข้าใจค่า GDP (Customer+Investor+Goverment=Export-Import) และอัตราการเติบโดโดยเฉลี่ย จัดทัพการลงทุนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความสามารถในการรับความเสี่ยง มีการกระจายความเสี่ยง เป็น 3 ประเภท คือ คุ้มครองเงินต้น/รักษาสภาพคล่อง สร้างกระแสเงิน/รักษาอำนาจซื้อ และสร้างความมั่งคั่ง

หัวข้อที่ 2 ลงทุนหุ้นอย่างมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐาน 

เราเป็นนักลงทุน (Investor) หรือนักเก็งกำไรแบบซื้อมาขายไป (Speculator)? นักลงทุนสายพื้นฐาน (Fundamental) ที่ลงทุนเพื่อการเป็นเจ้าของและผลตอบแทนในระยะยาว เรียกว่า Value Investor (VI) นักลงทุนสายเทคนิค (Technical) หรือสายกราฟ จะค้นหาจังหวะการซื้อขาย (Trading) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระยะสั้น นักลงทุนแบบผสมผสาน นักลงทุนสาย Passive หรือใช้วิธีการออมแบบ DCA หรือเป็นนักลงทุนประเภทตามกระแส ไม่มีแนวทางป็นของตนเอง

Peter Lynch จำแนกหุ้นออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ หุ้นโตช้า (Slow Growers) หุ้นพื้นฐานหรือหุ้นแข็งแกร่ง (Stalwarts) หุ้นโตเร็ว (Fast Growers) หุ้นวัฎจักร (Cyclicals ขึ้นลงตามภาวะตลาดโลก) หุ้นฟื้นตัว (Turnarounds) และหุ้นสินทรัพย์หรือหุ้นทรัพย์สินมาก (Asset Play)

นักลงทุนต้องเข้าใจนโยบายการเงิน (ได้ผลระยะสั้น) นโยบายการคลัง (เห็นผลระยะยาว) เข้าใจเศรษฐศาสตร์การลงทุน การวิเคราะห์แบบ TOP-DOWN ตั้งแต่ Macro Analysis (วิเคราะห์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย) Micro Analysis (วิเคราะห์ 8 อุตสาหกรรม 28 หมวดธุรกิจ) ลงไปถึงการวิเคราะห์เป็นรายบริษัท ทั้งในเชิงปริมาณ (วิเคราะห์งบการเงิน) และเชิงคุณภาพ (วิเคราะห์ Business Model อย่างรอบด้าน ว่ากิจการสร้างรายได้ได้อย่างไร โดยใช้เครื่องมือ Business Model Canvas)

การวิเคราะห์อุตสาหกรรม สามารถทำได้โดยการดู 1) วัฎจักรธุรกิจ (Business Cycle) 2) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Structure Changes) ของอุตสาหกรรมนั้น ๆ 3) วงจรชีวิตอุตสาหกรรม (Industry Life Cycle) ตั้งแต่ยุคบุกเบิก เติบโด เติบโตเต็มที่ และเสื่อมถอย 4) การแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยใช้ Five Force Model ซึ่งประกอบด้วย จำนวนคู่แข่งปัจจุบัน ความยากง่ายในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของคู่แข่งรายใหม่ อำนาจการต่อรองของลูกค้า อำนาจการต่อรองของ suppliers และสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนได้ในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

การคัดกรองหุ้น (Stock Screening) จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกหุ้นที่ตรงความต้องการได้ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนกว่า 600 บริษัท สามารถใช้เครื่องมือ Settrade Stock Screener เลือกหุ้นที่มีราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท (Value) หุ้นที่บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง (Growth) หรือค้นหาหุ้นจากทิศทางราคาหรือปริมาณการซื้อขาย (Momentum)

หัวข้อที่ 3 ลงทุนหุ้นอย่างมั่นใจ ต้องเข้าใจงบการเงิน 

ฐานะการเงิน : สินทรัพย์ (Asset) = หนี้สิน (Liability) + ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)

สินทรัพย์ คือ ทรัพยากรที่ให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สินทรัพย์หมุนเวียน (เช่น เงินสด เงินลงทุนระยะสั้น) และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ เงินลงทุนระยะยาว) หนี้สิน คือ ภาระผูกพัน ประกอบด้วย หนี้สินหมุนเวียน (เช่น เงินกู้ยืมระยะสั้น) และหนี้สินไม่หมุนเวียน (เช่น เงินกู้ยืมระยะยาว หุ้นกู้)

ผลการดำเนินงาน : รายได้ (Revenue) – ค่าใช้จ่าย (Expense) = กำไร (ขาดทุน)

งบกระแสเงินสด หมายถึง เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่เพิ่มขึ้น (หรือลดลง) จากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมจัดหาเงิน

การศึกษาข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราจะต้องอ่าน งบการเงิน/ผลประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้น รวมทั้งอ่าน หมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่แสดงไว้ในรายงานผู้สอบบัญชีด้วย (ควรเลือกบริษัทที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นรับรองแบบ “ไม่มีเงื่อนไข”)

การวิเคราะห์งบการเงิน ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ขนาดร่วม (Common-size Analysis) ได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ 2) การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trend Analysis) เทียบปีต่อปี หรือเทียบกับปีเริ่มต้น 3) การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis) ได้แก่ ความสามารถในการทำกำไร ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สภาพคล่อง โครงสร้างทางการเงิน การประเมินมูลค่าหุ้น จากอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล เป็นต้น 4) ข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน (Off Balance Sheet Items)

การประเมินมูลค่าหุ้น (Stock Valuation) เพื่อการตัดสินใจซื้อหรือขาย ควรซื้อเมื่อหุ้นราคายังถูกอยู่ (มูลค่าที่เหมาะสม สูงกว่าราคาตลาด) และควรขายเมื่อหุ้นราคาแพงเกินไป (มูลค่าที่เหมาะสม ต่ำกว่าราคาตลาด) อาจใช้ Technical Analysis จับจังหวะตลาดขาขึ้น (Up Trend) ตลาดขาลง (Down Trend) เทคนิคในการประเมินมูลค่าหุ้น มีหลายวิธี อาทิ การดูอัตราการเติบโตของกำไร ราคาตลาดหรือราคาปิดเป็นกี่เท่าของกำไรสุทธิต่อหุ้น : PER (Price to Earning Ratio) = P (Price) / EPS (Earning per Share) หรือดูราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี PBV = P / BPS (Book Value per Share) เป็นต้น

หัวข้อที่ 4 ลงทุนหุ้นอย่างมั่นใจ ต้องเข้าใจปัจจัยทางเทคนิค 

แนะนำเครื่องมือ App. efin Mobile เพื่อใช้ในการวิเคราะห์กราฟ และศึกษาวิธีการวิเคราะห์แท่งเทียน ถ้าแท่งเทียนเป็นสีเขียว แรงซื้อเป็นฝ่ายชนะ เรียกว่า Bullish Candle Stick (กระทิง) แท่งเทียนเป็นสีแดง แรงขายเป็นฝ่ายชนะ เรียกว่า Bearish Candle Stick (หมี) ถ้าแท่งเล็ก แสดงว่า ขนะแต่ไม่เอกฉันท์ แต่ถ้าแท่งเล็กติดต่อกันหลายวัน เทียบเท่าได้กับแท่งใหญ่ กราฟปริมาณการซื้อขาย (Volume)ใช้คู่กับแท่งเทียนขนาดใหญ่ จะช่วยยืนยันแนวโน้มได้ แนวโน้มขาขึ้นของหุ้น คือ ราคาทำ New High ได้ตลอดไม่ว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร แนวโน้มขาลงของหุ้น คือ ราคาทำ New Low ต่อเนื่องแม้ตลาดจะเป็นขาขึ้นก็ตาม ส่วนแนวโน้ม Sideway คือ ราคาแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบ โดยมีแท่งเขียวแท่งแดงสลับกันขึ้น-ลง ขึ้น-ลง ไปเรื่อยๆ และถ้าเมื่อไหร่ราคาทะลุกรอบบน หุ้นจะขึ้นแรง และถ้าราคาทะลุกรอบล่าง หุ้นจะลงแรง

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Candlestick_chart_scheme_03-en.svg

การเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม ต้องมีแท่งเทียนใหญ่มาบอก เรียกว่า แท่งเทียนกลับตัว

แท่งสีเขียวใหญ่แท่งแรกในสามทหารเสือ (Three While Soldiers) เป็นแท่งเทียนกลับตัว Bullish Belt Hold (ให้ซื้อ)
แท่งสีแดงใหญ่แท่งแรกในอีกาสามตัว (Three Black Crows) เป็นแท่งเทียนกลับตัว Bearish Belt Hold (ให้ขาย)

การดูแนวโน้ม โดยใช้ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ได้แก่ เส้นค่าเฉลี่ย Simple moving average (SMA) เส้นค่าเฉลี่ย Exponential moving average (EMA) 50 วัน 200 วัน จะบอกแนวโน้มปัจจุบัน บอก “แนวรับ” สำคัญ ถ้าราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น บอก “แนวต้าน” สำคัญ ถ้าราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาลง การเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม ถ้าราคาหุ้นทะลุเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นไป หรือหลุดเส้นค่าเฉลี่ยลงมา แนวรับ (Spport) มีหน้าที่ รับไว้ไม่ให้ตก เป็นแรงซื้อ ดันราคาหุ้นไว้ไม่ให้ตก แนวต้าน (Resistance) มีหน้าที่ ต้านไว้ไม่ให้ขึ้น เป็นแรงขาย กดราคาหุ้นไว้ไม่ให้ขึ้นต่อ

การวิเคราะห์แนวโน้มทางเทคนิค อาจใช้วิธีการดูราคา Price Pattern หรือใช้การดูพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของราคา จับจังหวะปริมาณการซื้อขาย และคาดการณ์ราคาเป้าหมาย ด้วยเทคนิควิคคอฟฟ์ Wyckoff Logic ซึ่งวัฏจักรการเคลื่อนไหวของราคาหรือตลาด จะถูกขับเคลื่อนจาก Demand (แรงซื้อ) และ Supply (แรงขาย) ที่มาจากนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย การเคลื่อนไหวในแต่ละวัฏจักร จะมี 4 ช่วง ได้แก่ ระยะสะสม (Accumulation) ระยะวิ่งขึ้น (Mark Up) ระยะแบ่งขาย (Distribution) และระยะดิ่งลง (Mark Down)

หัวข้อที่ 5  Buy & Sell Strategy และ Money Management

ข้อผิดพลาดในการซื้อขายหุ้น มักเกิดจาก เลือกหุ้นไม่เป็น เลือกหุ้นที่ไม่รู้จัก ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ขายหุ้นไม่เป็น ขายเพราะ panic ไม่รู้จัก stop loss ทนต่อความผันผวนของตลาดไม่ได้ เป็นต้น วิธีการซื้อขายหุ้นที่ถูกต้อง ควรมีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมเทียบกับราคาตลาด ถ้าหุ้นถูกให้ซื้อ ถ้าหุ้นแพงให้ขาย ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค ตลาดขาขึ้น (up trend) ให้ซื้อ ตลาดขาลง (down trend) ให้ขาย มีจิตวิทยาการลงทุน ถ้าตลาดกลัว (Fear) ให้ซื้อ ตลาดโลภ (Greed) ให้ขาย ทะยอยขายเมื่อตลาดคึกคัก มีข่าวดีเต็มตลาด ขายแล้วไม่ลง ให้หยุดขาย (Let profit run) ขายเมื่อราคาหุ้นถึงเป้าหมายที่กำหนด (อย่าโลภ) ขายเมื่อเกิดสัญญาณขายทางเทคนิค และให้ทะยอยขายตามน้ำหนัก Asset Allocation

CPR for Traders : P=C/R

จำนวนซื้อ (Position Sizing) ของหุ้นแต่ละตัว = จำนวนเงินที่สามารถรับความเสี่ยงจากขาดทุนได้ในแต่ละครั้ง (เงินลงทุนที่มีทั้งหมด คูณด้วย % ที่ยอมขาดทุนได้) / ราคาซื้อ – ราคาหยุดขาดทุน

สรุปขั้นตอน ดังนี้ 1) หาราคาซื้อ หาราคาขายทำกำไร หาราคาขายตัดขาดทุน 2) รู้ตัวเองว่ายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน กี่เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทั้งหมด 3) จัดสรรเงินลงทุนให้ความเสี่ยงแต่ละตัวที่ลงทุน เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินข้อ 2

หัวข้อที่ 6  จัดพอร์ตง่ายๆ ผ่านกองทุนรวม 

ประเภทของกองทุนรวม

  • กองทุนรวมตราสารเงิน (Money Market Fund) ได้แก่ กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศ (ระดับความเสี่ยง 1) กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศบางส่วน (ระดับความเสี่ยง 2)
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) พันธบัตร (ระดับความเสี่ยง 3) หุ้นกู้เอกชน (ระดับความเสี่ยง 4)
  • กองทุนผสม (Mixed Fund) แบบคงที่ และแบบยืดหยุ่น ระดับความเสี่ยง 5
  • กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) ระดับความเสี่ยง 6
  • กองทุนรวมเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Fund) ระดับความเสี่ยง 7 เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
  • กองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Fund) ระดับความเสี่ยง 8 เช่น ทองคำ น้ำมัน

NAV (Net Asset Value) คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งหมดของกองทุนรวมและผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมได้รับ หลังจากหักค่าใช้จ่ายหรือหนี้สินของกองทุนรวมแล้ว การคำนวณ NAV ทำทุกวันทำการ จากการคิดคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมตามราคาตลาด (Mark to Market) ในแต่ละวัน

NAV ต่อหน่วย = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ / จำนวนหน่วยลงทุน

ราคา Bid คือ ราคาเสนอซื้อ (เราจะขายหน่วยลงทุน ได้ที่ราคาเสนอซื้อของตลาด) ราคา Offer คือ ราคาเสนอขาย (เราจะซื้อหน่วยลงทุน ได้ที่ราคาเสนอขายของตลาด)

หนังสือชี้ชวน เป็นเอกสารที่ให้ข้อมูลนโยบายการลงทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง และความเสี่ยงของกองทุนรวม

อาจใช้เว็บไซต์ Morningstar ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับ Funding Rating กองทุนรวม กองทุน ETF หุ้นในประเทศไทย เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ การจัดอันดับ 1-5 ดาว ใช้การคำนวณจากราคา NAV ของกองทุน ผลการดำเนินงานย้อนหลัง ค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ เปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง

และสุดท้าย การลงทุนควรทำ Global Asset Allocation เพื่อกระจายความเสี่ยง โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนไปยังกองทุนต่างประเทศ ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น แบบ consevative (ผลตอบแทนคาดหวัง 4-6% ต่อปี) แบบ Moderate (ผลตอบแทนคาดหวัง 6-8% ต่อปี และแบบ Aggressive (ผลตอบแทนคาดหวัง 8-10% ต่อปี)